เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 3. เตลกานิเถรคาถา
[744] คนมีกำลัง เมื่อจะถากไม้ย่อมใช้ลิ่มตอกลิ่ม ฉันใด
ภิกษุผู้ฉลาดก็ฉันนั้น ย่อมใช้อินทรีย์นั่นแหละขจัดอินทรีย์
[745] นรชนใดอบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
ใช้อินทรีย์ 5 ฝึกอินทรีย์ 5 เป็นพราหมณ์
ไม่มีทุกข์ ถึงอนุปาทิเสสนิพพาน
[746] นรชนนั้นมีความรู้ ตั้งอยู่ในธรรม
ทำตามอนุสาสนีที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ
ย่อมประสบสุข

3. เตลกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระเตลกานิเถระ
(พระเตลกานิเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[747] เราได้มีความเพียร ค้นคิดธรรมอยู่นานหนอ
เมื่อสอบถามสมณพราหมณ์ ก็ยังไม่ได้ความกระจ่างใจ
[748] ในโลกนี้ ใครเล่า เป็นผู้ถึงฝั่ง
ใครเป็นผู้บรรลุธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะ
เราจะปฏิบัติตามธรรมของใครซึ่งจะเป็นเหตุให้รู้แจ้งปรมัตถธรรมได้
[749] เรามีความคดคือกิเลสอยู่ภายใน เหมือนปลากินเบ็ด
ทั้งถูกผูกด้วยบ่วงคือกิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติอสูรถูกผูกด้วยบ่วง
ของท้าวสักกะจอมเทพ
[750] เรากระชากบ่วงคือกิเลสนั้นไม่หลุด
จึงไม่พ้นไปจากความเศร้าโศกและความร่ำไรรำพันนั้น
ใครในโลกนี้จะช่วยแก้เครื่องผูกคือกิเลส
ประกาศทางตรัสรู้ให้เราได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :465 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 3. เตลกานิเถรคาถา
[751] เราจะปฏิบัติตามธรรมของใครคือสมณะ
หรือพราหมณ์หรือใครผู้แสดงธรรมเป็นเหตุกำจัดกิเลส
ที่จะลอยชราและมรณะเสียได้
[752] จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย
ประกอบด้วยความแข่งดีมีกำลัง ถึงความกระด้าง
เพราะใจประกอบด้วยความโกรธ ถูกความโลภคอยทำลาย
[753] เชิญท่านดูลูกศรคือทิฏฐิ 30 ประเภท
อันมีธนูคือตัณหาเป็นสมุฏฐานเนื่องอยู่ในอก
มีกำลังทำลายหทัยอยู่เถิด
[754] การไม่ละทิฏฐิที่เหลือ1เป็นอันถูกลูกศร
คือความดำริผิดให้อาจหาญ
เราถูกยิงด้วยลูกศรคือทิฏฐินั้นหวั่นไหวอยู่
เหมือนใบไม้ไหวเพราะต้องลม
[755] บาปกรรมตั้งขึ้นภายในเรา พลันให้ผล
เป็นไปในร่างกายที่มีผัสสายตนะ2 6 ทุกเมื่อ
[756] เรายังไม่พบหมอที่จะช่วยถอนลูกศร3ของเรานั้นได้เลย
ทั้งหมดนั้นก็ไม่สามารถใช้เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ
ศัสตรา เวทมนต์ และยาอื่น ๆ ถอนลูกศรนั้นได้
[757] ใครเล่าไม่ต้องใช้ศัสตรา ไม่ทำร่างกายให้เป็นแผล
ไม่เบียดเบียนร่างกายทุกส่วน จักถอนลูกศรคือกิเลส
ซึ่งเป็นลูกศรโดยปรมัตถ์ที่เสียบอยู่ภายในหทัยของเราออกได้

เชิงอรรถ :
1 คือตั้งแต่สักกายทิฏฐิเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. 2/754/315)
2 ผัสสายตนะ 6 ได้แก่ 1.จักขุสัมผัส ความกระทบทางตา 2.โสตสัมผัส ความกระทบทางหู 3.ฆานสัมผัส
ความกระทบทางจมูก 4.ชิวหาสัมผัส ความกระทบทางลิ้น 5.กายสัมผัส ความกระทบทางกาย 6.
มโนสัมผัส ความกระทบทางใจ (ที.ปาฏิ. 11/323/215)
3 คือทิฏฐิและกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :466 }