เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 2.ปาราปริยเถรคาถา
[735] ผู้ใดไม่อาจระวังรักษาใจจากธรรมารมณ์เหล่านี้
ทุกข์ที่เกิดจากกระแสอารมณ์ทั้ง 5 ย่อมติดตามผู้นั้น
เพราะไม่ระวังรักษาใจนั้น
[736] ร่างกายนี้เต็มไปด้วยหนอง เลือด และซากศพเป็นจำนวนมาก
ที่นรชนผู้กล้าสร้างไว้ เกลี้ยงเกลา วิจิตรงดงามแต่ภายนอก
ภายในเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีคูถเป็นต้น ดุจสมุก
[737] ที่เผ็ดร้อน มีรสหวานชื่นใจ ผูกพันด้วยความรัก
เป็นทุกข์ ฉาบไว้ด้วยของที่น่าชื่นใจภายนอก
ดุจมีดโกนทาน้ำผึ้งที่คนเขลาไม่รู้ซึ้งฉะนั้น
[738] บุรุษที่ยังกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น (รส) และโผฏฐัพพะ
ของสตรี ย่อมประสบทุกข์ต่าง ๆ
[739] กระแสตัณหาในสตรีทั้ง 5 ย่อมไหลไปในทวารทั้ง 5 ของบุรุษ
ผู้ใดมีความเพียรอาจทำการป้องกันกระแสตัณหาทั้ง 5 นั้นได้
[740] ผู้นั้น มีความรู้ตั้งอยู่ในธรรม ขยัน มีปัญญาเครื่องพิจารณา
ถึงจะยินดีอยู่ ก็พึงทำกิจที่ประกอบด้วยเหตุผลได้
[741] ถ้ายังติดอยู่กับการประกอบกิจที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน
ควรเว้นกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นผู้ไม่ประมาท
มีปัญญาเครื่องพิจารณา รู้ว่ากิจนั้นไม่ควรทำแล้ว พึงเว้นเสีย
[742] ควรยึดกิจที่ประกอบประโยชน์ในปัจจุบัน
และความยินดีที่ประกอบด้วยธรรม ประพฤติ เพราะความยินดี
นั้นแล ชื่อว่าเป็นความยินดีสูงสุด
[743] ผู้ใดปรารถนาจะใช้อุบายต่าง ๆ ช่วงชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่น
ฆ่า เบียดเบียนผู้อื่น และทำผู้อื่นให้เศร้าโศก
ฉกชิงเอาสิ่งของของคนเหล่าอื่นด้วยความทารุณ ร้ายกาจ
การกระทำของผู้นั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :464 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 3. เตลกานิเถรคาถา
[744] คนมีกำลัง เมื่อจะถากไม้ย่อมใช้ลิ่มตอกลิ่ม ฉันใด
ภิกษุผู้ฉลาดก็ฉันนั้น ย่อมใช้อินทรีย์นั่นแหละขจัดอินทรีย์
[745] นรชนใดอบรมศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
ใช้อินทรีย์ 5 ฝึกอินทรีย์ 5 เป็นพราหมณ์
ไม่มีทุกข์ ถึงอนุปาทิเสสนิพพาน
[746] นรชนนั้นมีความรู้ ตั้งอยู่ในธรรม
ทำตามอนุสาสนีที่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ
ย่อมประสบสุข

3. เตลกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระเตลกานิเถระ
(พระเตลกานิเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[747] เราได้มีความเพียร ค้นคิดธรรมอยู่นานหนอ
เมื่อสอบถามสมณพราหมณ์ ก็ยังไม่ได้ความกระจ่างใจ
[748] ในโลกนี้ ใครเล่า เป็นผู้ถึงฝั่ง
ใครเป็นผู้บรรลุธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะ
เราจะปฏิบัติตามธรรมของใครซึ่งจะเป็นเหตุให้รู้แจ้งปรมัตถธรรมได้
[749] เรามีความคดคือกิเลสอยู่ภายใน เหมือนปลากินเบ็ด
ทั้งถูกผูกด้วยบ่วงคือกิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติอสูรถูกผูกด้วยบ่วง
ของท้าวสักกะจอมเทพ
[750] เรากระชากบ่วงคือกิเลสนั้นไม่หลุด
จึงไม่พ้นไปจากความเศร้าโศกและความร่ำไรรำพันนั้น
ใครในโลกนี้จะช่วยแก้เครื่องผูกคือกิเลส
ประกาศทางตรัสรู้ให้เราได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :465 }