เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [15. โสฬสกนิบาต] 2. อุทายีเถรคาถา
[693] เราจะแสดงผู้ที่ได้นามว่านาคโดยแท้จริงนั้นแก่พวกท่าน
เพราะผู้ที่ไม่ทำชั่วทุกอย่าง ชื่อว่านาค
ความสงบเสงี่ยมและความไม่เบียดเบียนทั้ง 2 นั้น
เป็นเท้าหน้าของผู้ที่ได้นามว่า ช้าง
[694] สติ และสัมปชัญญะทั้ง 2 นั้น
เป็นเท้าหลังของผู้ที่ได้นามว่าช้าง
ผู้ที่ได้นามว่าพญาช้าง
มีศรัทธาเป็นงวง มีอุเบกขาเป็นงาขาว
[695] มีสติเป็นคอ มีปัญญาเครื่องพิจารณาค้นคว้าธรรมเป็นเศียร
มีธรรมคือสมถะและวิปัสสนาซึ่งเป็นที่รวมอยู่แห่งปัญญาเป็นท้อง
มีวิเวกเป็นหาง
[696] พญาช้างคือพระพุทธเจ้านั้นทรงเข้าฌานประจำ
ทรงยินดีในนิพพาน มีพระหฤทัยตั้งมั่นดีภายใน
เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น
ประทับยืน ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น
[697] เมื่อบรรทม ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น
แม้ประทับนั่ง ก็มีพระหฤทัยตั้งมั่น ทรงสำรวมทุกอย่าง
นี้เป็นคุณสมบัติของพญาช้างคือพระพุทธเจ้า
[698] พญาช้าง คือพระพุทธเจ้านั้น บริโภคสิ่งที่ไม่มีโทษ
ไม่บริโภคสิ่งที่มีโทษ ได้อาหารและเครื่องนุ่งห่มแล้วงดการสั่งสม
[699] ตัดสังโยชน์ กิเลสเครื่องผูกพันน้อยใหญ่ทั้งหมด
ไม่มีความห่วงใยเลย ไปได้ทุกทิศ
[700] ดอกบัวขาวมีกลิ่นหอมหวน ชวนให้รื่นรมย์ใจเกิดก็ในน้ำ
เติบโตก็ในน้ำ แต่ไม่ติดอยู่กับน้ำ แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :458 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [15. โสฬสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[701] พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในโลก ทั้งทรงอยู่ในโลก
ก็ไม่ทรงติดอยู่กับโลก
เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน
[702] ไฟกองใหญ่ที่ลุกโชน เมื่อหมดเชื้อก็ดับไป
ถึงเมื่อยังมีเถ้าอยู่ เขาก็เรียกว่า ไฟดับ
[703] อุปมาที่ให้รู้แจ่มแจ้งเนื้อความข้อนี้
วิญญูชนทั้งหลายแสดงไว้แล้ว
ท่านผู้ที่มีนามว่ามหานาคทั้งหลายจะรู้แจ้งพญาช้างคือพระพุทธเจ้า
อันเราผู้ได้นามว่านาคแสดงไว้แล้ว
[704] พญาช้างคือพระพุทธเจ้า ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ
หมดอาสวะ เมื่อทรงละพระวรกาย จะไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน
โสฬสกนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
พระเถระ 2 รูปนี้ มีฤทธิ์มาก คือ
1. พระอัญญาโกณฑัญญะเถระ 2. พระอุทายีเถระ
ในโสฬสกนิบาตนี้ มี 32 คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :459 }