เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา[13. เตรสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[638] เมื่อเราบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก
พระศาสดาซึ่งมีพระจักษุยอดเยี่ยมในโลก
ได้ทรงแสดงธรรมอุปมาด้วยสายพิณสอนเรา
เราฟังพระดำรัสของพระองค์แล้วยินดีอยู่ในคำสอน
[639] ทำสมถะ1ให้ถึงพร้อมเพื่อบรรลุประโยชน์สูงสุด
เราบรรลุวิชชา 3 ได้ทำตามคำสั่งสองของพุทธเจ้าแล้ว
[640] เราผู้น้อมไปในเนกขัมมะ2 และความสงัดใจ
น้อมไปในความไม่เบียดเบียน หมดความยึดมั่นถือมั่น
[641] น้อมไปในความสิ้นตัณหาและความไม่หลงแห่งใจ
เพราะเห็นความเกิดขึ้นแห่งอายตนะ จิตจึงหลุดพ้นได้โดยชอบ
[642] ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ ทำกิจเสร็จแล้วนั้น
ย่อมไม่มีการสั่งสม ทั้งไม่มีกิจอื่นที่จะต้องทำ
[643] ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ทั้งมวล
[644] ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์
ทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร
เพราะผู้คงที่นั้นได้เห็นความเสื่อมไปแห่งอารมณ์นั้นแล้ว
เตรสกนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ คือ
1. พระโสณโกฬิวิสเถระมีฤทธิ์มากรูปเดียวเท่านั้น
และในเตรสกนิบาตนี้ มี 13 คาถา ฉะนี้แล

เชิงอรรถ :
1 สมาธิที่ทำให้เกิดวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. 2/639/261)
2 การออกบวช (ขุ.เถร.อ. 2/640/261)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :450 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [14. จุททสกนิบาต] 1. ขทิรวนิยเรวตเถรคาถา
14. จุททสกนิบาต
1. ขทิรวนิยเรวตเถรคาถา
ภาษิตของพระขทิวนิยเรวตเถระ
(พระขทิรวนิยเรวตเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[645] นับแต่อาตมาออกบวชเป็นบรรพชิต
ไม่เคยดำริถึงสิ่งที่ไม่ดี ประกอบด้วยโทษเลยว่า
[646] ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกเบียดเบียน จงถูกฆ่า จงประสบทุกข์
อาตมาไม่เคยดำริในระยะกาลยาวนานเช่นนี้
[647] แต่รู้เฉพาะการเจริญเมตตาไม่มีประมาณ
ซึ่งได้อบรมสั่งสมมาโดยลำดับตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
[648] เป็นมิตร เป็นสหายกับสัตว์ทุกจำพวก
อนุเคราะห์สัตว์ทุกจำพวก
ยินดีในการไม่เบียดเบียน เจริญเมตตาจิตทุกเมื่อ
[649] และทำจิตที่ไม่ง่อนแง่น ไม่ขุ่นเคืองให้บันเทิง
เจริญพรหมวิหาร ที่คนเลวส้องเสพไม่ได้
[650] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าทุติยฌานที่ไม่มีวิตก
เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง
[651] ภูเขาศิลาล้วนตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้น เพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ฉันนั้น
[652] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :451 }