เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [12. ทวาทสกนิบาต] รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาต
[629] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย
ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด
ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสิ้นอาสวะแล้วเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
[630] ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทรงเห็นซึ่งหมู่เทวดาแวดล้อมอยู่
จึงทรงแย้ม แล้วได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า
[631] บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะคุณธรรมนี้ คือ
ตบะ พรหมจรรย์ ความสำรวม และความฝึกฝน
ตบะเป็นต้นนี้จัดเป็นพราหมณ์ชั้นสูงสุด
ทวาทสกนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถระที่มีในนิบาตนี้ 2 รูป คือ
พระเถระ 2 รูปนี้มีฤทธิ์มาก คือ
1. พระสีลวเถระ 2. พระสุนีตเถระ
ในทวาทสกนิบาตมี 24 คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :448 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [13. เตรสกนิบาต] 1. โสณโกฬิวิสเถรคาถา
13. เตรสกนิบาต
1. โสณโกฬิวิสเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณโกฬิวิสเถระ
(พระโสณโกฬิวิสเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[632] ผู้ใดเป็นคหบดีที่ยิ่งใหญ่
สมความปรารถนาในรัฐของพระเจ้าอังคะ
วันนี้ ผู้นั้นชื่อว่าโสณะ
เป็นผู้เยี่ยมที่สุดในธรรมทั้งหลาย ได้ถึงที่สุดทุกข์
[633] ภิกษุพึงตัดสังโยชน์เบื้องต่ำ 5 พึงละสังโยชน์เบื้องสูง 5
และพึงเจริญอินทรีย์ 5 ให้ยิ่ง
ภิกษุผู้ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องได้ทั้ง 5
ท่านเรียกว่า ข้ามโอฆะได้แล้ว
[634] สำหรับภิกษุผู้ประมาท มีใจพองเหมือนต้นอ้อ
ยังมีความยินดีในอายตนะภายนอก
ศีล สมาธิ และปัญญาย่อมไม่บริบูรณ์
[635] ภิกษุเหล่านี้ละทิ้งกิจที่ควรทำ มาทำแต่กิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะทั้งหลายของพวกเธอผู้ประมาท
มีใจพองเหมือนต้นอ้อ ย่อมเจริญ
[636] ส่วนภิกษุเหล่าใดปรารภกายคตาสติด้วยดีเป็นนิตย์
ภิกษุเหล่านั้นมักกระทำกิจที่ควรทำเป็นนิตย์ ไม่ทำกิจที่ไม่ควรทำ
อาสวะของพวกเธอผู้มีสติสัมปชัญญะ ย่อมถึงความสิ้นไป
[637] เมื่อพระศาสดาตรัสบอกทางตรงไว้แล้ว เธอทั้งหลายจงดำเนิน
ไปเถิด อย่าหยุดเสีย กุลบุตรผู้หวังประโยชน์
เมื่อเตือนตนด้วยตนเอง พึงน้อมตนเข้าถึงนิพพานได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :449 }