เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [10. ทสกนิบาต] 7. โคตมเถรคาถา
[580] พึงยินดีด้วยของตามที่ได้ ถึงจะเป็นของเศร้าหมอง
และไม่ควรปรารถนารสอย่างอื่นจากรสตามที่ได้มาให้มาก
สำหรับผู้ที่ยังติดในรส ใจย่อมไม่ยินดีในฌาน
[581] ภิกษุพึงเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด
เป็นมุนี และไม่อยู่คลุกคลีด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสอง
[582] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตควรแสดงตนให้เป็นเหมือนคนโง่และคนใบ้
ไม่ควรพูดมากในท่ามกลางสงฆ์
[583] ท่านไม่พึงว่าร้ายใคร พึงเว้นการกระทบกระทั่ง
ควรสำรวมในพระปาติโมกข์ และรู้จักประมาณในการขบฉัน
[584] เป็นผู้ฉลาดในการเกิดขึ้นแห่งจิตที่กำหนดนิมิตไว้ดีแล้ว
ประกอบสมถะและวิปัสสนาตามกาลอันสมควรเนือง ๆ
[585] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตพึงเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความเพียรเป็นนิตย์
ประกอบภาวนาทุกเมื่อ
หากยังไม่ถึงที่สุดทุกข์ไม่พึงถึงความวางใจ
[586] อาสวะทั้งปวงของภิกษุผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์เป็นอยู่อย่างนี้
ย่อมสิ้นไป และท่านก็ย่อมบรรลุนิพพาน

7. โคตมเถรคาถา
ภาษิตของพระโคดมเถระ
(พระโคดมเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[587] บุคคลพึงรู้จักประโยชน์ของตน 1 พึงตรวจดูปาพจน์1 1
พึงตรวจตราสิ่งที่สมควรในศาสนานี้
ของกุลบุตรผู้เข้าถึงความเป็นสมณะ 1

เชิงอรรถ :
1 ธรรมและวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว (ขุ.เถร.อ.2/587/232)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :440 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [10. ทสกนิบาต] 7. โคตมเถรคาถา
[588] มิตรดี 1 การสมาทานสิกขาให้บริบูรณ์ 1
การเชื่อฟังครูทั้งหลาย 1 นี้เป็นการสมควรแก่สมณะในศาสนานี้
[589] ความเคารพในพระพุทธเจ้า 1
ความนอบน้อมในพระธรรมตามความเป็นจริง 1
การทำความยำเกรงในพระสงฆ์ 1
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[590] ภิกษุผู้ประกอบในอาจาระและโคจร 1
ผู้ชำระอาชีพให้บริสุทธิ์ ซึ่งท่านผู้รู้ไม่ตำหนิติเตียน 1
การตั้งจิตไว้ชอบ 1 นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[591] จาริตศีล 1 วาริตศีล 1
การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถที่น่าเลื่อมใส 1
การประกอบเนือง ๆ ในอธิจิต 1
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[592] เสนาสนะป่า 1 ที่สงัด 1 ที่เงียบ 1 ที่มุนีอยู่อาศัย 1
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[593] จตุปาริสุทธิศีล 1 พาหุสัจจะ 1
การพิจารณาค้นคว้าธรรมตามความเป็นจริง 1
การรู้แจ้งอริยสัจ 1 นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[594] ข้อที่บุคคลพึงเจริญอนิจจสัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง 1
เจริญอนัตตสัญญาว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา 1
เจริญอสุภสัญญา 1 เจริญอนภิรติสัญญาในโลก 1
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ
[595] ข้อที่บุคคลพึงเจริญโพชฌงค์ 1 อิทธิบาท 1
อินทรีย์ 1 พละ 1 อริยัฏฐังคิกมรรค 1
นี้เป็นการสมควรแก่สมณะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :441 }