เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [7. สัตตกนิบาต] 4. โสปากเถรคาถา
4. โสปากเถรคาถา
ภาษิตของพระโสปากเถระ
(พระโสปากเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[480] เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านรชน
เสด็จจงกรมที่ร่มเงาแห่งพระคันธกุฎี
ได้เข้าไปเฝ้าพระองค์ซึ่งเป็นบุรุษผู้สูงสุด แล้วถวายบังคม ณ ที่นั้น
[481] ได้ห่มจีวรเฉวียงบ่า ประนมมือ เดินจงกรมตามพระองค์
ผู้ซึ่งปราศจากกิเลสดุจธุลีสูงสุดกว่าสรรพสัตว์
[482] ลำดับนั้น พระองค์ได้ตรัสถามปัญหากับเรา
เราเชี่ยวชาญรอบรู้ปัญหาทั้งหลาย
จึงไม่สะทกสะท้านและหวาดกลัว
ได้พยากรณ์ถวายพระศาสดา
[483] เมื่อเราแก้ปัญหาถวายเสร็จแล้ว
พระตถาคตทรงอนุโมทนาแล้ว
ทรงเหลียวดูภิกษุสงฆ์ได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า
[484] เป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธ
ที่โสปากภิกษุนี้บริโภค จีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
และได้ตรัสถึงการต้อนรับและสามีจิกรรม
ของชาวอังคะและชาวมคธเหล่านั้น ว่าเป็นลาภของพวกเขา
[485] โสปากะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เธอจงมาพบเรา
และการแก้ปัญหานี้แหละ จงเป็นการอุปสมบทของเธอ
[486] เราเกิดมามีอายุได้ 7 ขวบ ก็ได้อุปสมบทแล้ว
ยังทรงร่างกายซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรมเป็นธรรมดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :421 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [7. สัตตกนิบาต] 5. สรภังคเถรคาถา
5. สรภังคเถรคาถา
ภาษิตของพระสรภังคเถระ
(พระสรภังคเถระได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[487] เราได้ใช้มือหักต้นแขม ทำกระท่อมอยู่อาศัย
เพราะเหตุนั้น เราจึงได้มีชื่อโดยสมมติว่าสรภังคะ
[488] วันนี้ เราไม่สมควรใช้มือทั้งสองหักต้นแขมอีก
เพราะพระสมณโคดมผู้เรืองยศ
ทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลายสำหรับพวกเราแล้ว
[489] เมื่อก่อน เราผู้ชื่อว่าสรภังคะไม่เคยได้เห็นโรค1 ครบบริบูรณ์
โรคนี้นั้นเราผู้ทำตามพระดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพได้เห็นแล้ว
[490] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี สิขี
เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ และกัสสปะ
ได้ทรงดำเนินไปโดยทางใดแล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมก็ทรงดำเนินโดยทางนั้น
[491] พระพุทธเจ้าทั้ง 7 พระองค์ปราศจากตัณหา
ไม่ทรงยึดมั่น หยั่งถึงความดับ เสด็จอุบัติโดยธรรมกาย ผู้คงที่
ได้ทรงแสดงธรรมนี้ คือ
[492] อริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์
ความดับทุกข์ และทางที่ดำเนินไปให้ถึงความสิ้นทุกข์
ด้วยทรงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์

เชิงอรรถ :
1 อุปาทานขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ชื่อว่า โรค เพราะอรรถว่าเสียดแทงด้วย
อำนาจแห่งการเป็นทุกขเวทนาเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. 2/489/157)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :422 }