เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [5. ปัญจกนิบาต] 9. วิชิตเสนเถรคาถา
[353] ข้าพระองค์พอได้เห็นเพื่อนพรหมจารี1ทั้งหลาย
ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
มีความบากบั่นมั่นคงเป็นนิตย์ มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน
มีความเห็นร่วมกัน จึงจักอยู่ในป่าใหญ่
[354] เมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า ผู้ฝึกพระองค์แล้ว
มีพระหฤทัยตั้งมั่น จักเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
ทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ในป่าใหญ่

9. วิชิตเสนเถรคาถา
ภาษิตของพระวิชิตเสนเถระ
(พระวิชิตเสนเถระได้กล่าว 5 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[355] เราจะคล้องจิตของเจ้าไว้
เหมือนควาญช้างกักช้างไว้ที่ประตูเมือง
เราจะไม่ชักนำเจ้าซึ่งเป็นข่ายแห่งกามเกิดในร่างกาย
ให้เป็นไปในกรรมชั่ว
[356] เจ้าถูกเราคล้องไว้จะไปไม่ได้
เหมือนช้างไม่ได้ช่องประตู หมดทางไป
แน่ะจิตผู้ชั่วช้า ก็เจ้าผู้ดื้อด้าน
จะพอใจในกรรมชั่ว เที่ยวไปเสมอ ๆ มิได้
[357] ควาญช้างผู้มีกำลังเข้มแข็ง
ย่อมบังคับช้างที่จับได้ใหม่ ยังไม่ได้ฝึก
ทั้งไม่ต้องการ(จะให้ฝึก)ด้วย ให้อยู่ในอำนาจได้ ฉันใด
เราจะบังคับเจ้าให้อยู่ในอำนาจได้ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ผู้ประพฤติพรหมจรรย์,ผู้ประพฤติธรรมมีเว้นจากเมถุนเป็นต้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :399 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [5. ปัญจกนิบาต] 10. ยสทัตตเถรคาถา
[358] สารถีมือหนึ่ง เก่งในการฝึกม้าให้ดี
ย่อมฝึกม้าให้รอบรู้ได้ ฉันใด
เราตั้งอยู่ในพละ 5
จะฝึกเจ้าให้ได้ ฉันนั้น
[359] จักใช้สติผูกเจ้าไว้ จะคอยเอาใจใส่ฝึกเจ้า
เจ้าจิตเอ๋ย เจ้าถูกบังคับให้ทำธุระด้วยความเพียรแล้ว
จะไปไกลจากอารมณ์ภายในนี้ไม่ได้

10. ยสทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระยสทัตตเถระ
(พระยสทัตตเถระได้กล่าว 5 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[360] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ยังไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน
[361] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ยังเสื่อมจากพระสัทธรรม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรม
[362] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ยังเหี่ยวแห้งในพระสัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อย
[363] คนปัญญาทราม คิดแต่จะแข่งดี
ถึงฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ก็ไม่งอกงามในพระสัทธรรม เหมือนพืชเน่าในไร่นา
[364] ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองไว้แล้ว ย่อมฟังคำสอนของพระชินเจ้า
ผู้นั้นทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป ทำพระอรหัตให้แจ้งแล้ว
บรรลุนิพพานอันสงบอย่างยิ่ง เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :400 }