เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [5. ปัญจกนิบาต] 1. ราชทัตตเถรคาถา
5. ปัญจกนิบาต
1. ราชทัตตเถรคาถา
ภาษิตของพระราชทัตตเถระ
(พระราชทัตตเถระได้กล่าว 5 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[315] ภิกษุไปป่าช้าผีดิบ1แล้ว
ได้เห็นซากศพหญิงที่ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าช้า
ทั้งถูกหมู่หนอนบ่อนกัดกินอยู่
[316] ธรรมดาคนผู้รักสวยรักงามบางพวก
พบเห็นซากศพอันเลวแล้วพากันเกลียดชัง
(แต่)กามราคะปรากฏแก่เรา
เรานั้นเป็นเหมือนคนตาบอด
เพราะไม่เห็นของไม่สะอาด
ที่ไหลออกจากทวารทั้ง 9 ในซากศพนั้น
[317] ชั่วระยะเวลาที่ข้าวสุก
เราหลีกออกจากสถานที่นั้น
มีสติสัมปชัญญะ
ได้เข้าไปยังสถานที่สมควรแห่งหนึ่ง
[318] จากนั้น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นแก่เรา
โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[319] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา 3 ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ภิกฺขุ อสุภกมฺมฏฺฐานตฺถํ อุปคนฺตฺวา ภิกษุไปป่าช้าผีดิบเพื่อเจริญอสุภกรรมฐาน (ขุ.เถร.อ. 2/315/41)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :392 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [5. ปัญจกนิบาต] 2. สุภูตเถรคาถา
2. สุภูตเถรคาถา
ภาษิตของพระสุภูตเถระ
(พระสุภูตเถระได้กล่าว 5 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[320] คนผู้ประสงค์จะทำการงาน
ประกอบตนอยู่ในการงานที่ไม่ควรประกอบ
หากยังขืนทำอยู่
จะไม่ประสบความสำเร็จ
การประกอบในการงานที่ไม่ควรประกอบนั้นแล
เป็นลักษณะแห่งความล้มเหลว
[321] บุคคลใดยังเพิกถอนความเป็นอยู่อย่างลำบากไม่ได้
หากละทิ้งความไม่ประมาทซึ่งเป็นธรรมอันเอกเสีย
บุคคลนั้นเป็นเหมือนคนกาลกิณี
หากละทิ้งธรรมอื่น ๆ เสียแม้ทั้งหมด
ก็จะพึงเป็นเหมือนคนตาบอด
เพราะมองไม่เห็นทั้งธรรมที่สงบและธรรมที่ไม่สงบ
[322] บุคคลควรพูดถึงสิ่งที่ตนทำได้
ไม่พึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำไม่ได้
บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
[323] ดอกไม้งาม มีสีสวย(แต่)ไม่มีกลิ่น แม้ฉันใด
วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น
ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ทำตาม
[324] ดอกไม้งาม มีทั้งสีและมีกลิ่น แม้ฉันใด
วาจาสุภาษิต ก็ฉันนั้น
ย่อมมีผลแก่ผู้ทำตามด้วยดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :393 }