เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [4. จตุตกกนิบาต] 10. ธัมมิกเถรคาถา
10. ธัมมิกเถรคาถา
ภาษิตของพระธรรมิกเถระ
(พระศาสดา ได้ตรัส 3 พระคาถาไว้ดังนี้ว่า)
[303] ธรรมเท่านั้นย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้
นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว
ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ
[304] เพราะธรรมและอธรรมทั้งสองมีผลไม่เหมือนกัน
อธรรมนำไปสู่นรก
ธรรมให้ถึงสุคติ
[305] เพราะเหตุนั้น บุคคลเมื่อชื่นชมยินดีด้วยโอวาท
อันพระตถาคตผู้มั่นคงตรัสไว้ดีแล้วอย่างนี้
พึงทำความพอใจในธรรมทั้งหลาย
สาวกทั้งหลายของพระตถาคตผู้ประเสริฐ
ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว เป็นนักปราชญ์
ถึงธรรมว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสุด
ย่อมพ้นไปได้
(พระธรรมิกเถระได้พยากรณ์พระอรหัตด้วยคาถาสุดท้ายว่า)
[306] เรากำจัดอวิชชาซึ่งเป็นรากเหง้าดุจหัวฝี
ถอนข่ายคือตัณหาได้แล้ว
เรานั้นสิ้นสังสารวัฏแล้ว
และไม่มีกิเลสเป็นเหตุขัดข้อง
เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญปราศจากเมฆหมอก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :389 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [4. จตุตกกนิบาต] 12. มุทิตเถรคาถา
11. สัปปกเถรคาถา
ภาษิตของพระสัปปกเถระ
(พระสัปปกเถระได้กล่าว 4 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[307] เมื่อใด นางนกยางมีขนขาวสะอาด
ถูกความกลัวต่อเมฆดำ(ฝนฟ้าคะนอง)คุกคาม
ปรารถนาจะกลับรัง จะบินเข้าสู่รัง
เมื่อนั้น แม่น้ำอชกรณี ย่อมทำเราให้รื่นรมย์
[308] เมื่อใด นางนกยางมีขนขาวสะอาด
ถูกความกลัวต่อเมฆดำคุกคาม
ไม่เห็นที่เร้นที่หลบภัย ย่อมเสาะหาที่เร้นที่หลบภัย
เมื่อนั้น แม่น้ำอชกรณี ย่อมทำเราให้รื่นรมย์
[309] ต้นหว้าทั้งหลาย ณ ที่นั้น ๆ ทั้งสองฟากฝั่ง
ทำฝั่งแม่น้ำข้างหลังถ้ำใหญ่ให้งดงาม
จะทำสัตว์อะไร ไม่ให้ยินดีได้ในที่นั้นเล่า
[310] กบทั้งหลายมีผู้เสียงเบา
หลบหนีฝูงงูพิษได้อย่างปลอดภัย
พากันส่งเสียงร้องอย่างไพเราะ
วันนี้เป็นสมัยที่อยู่ปราศจากภูเขาและแม่น้ำก็หาไม่
แม่น้ำอชกรณีเป็นแม่น้ำที่ปลอดภัย สวยงาม น่ารื่นรมย์ดี

12. มุทิตเถรคาถา
ภาษิตของพระมุทิตเถระ
(พระมุทิตเถระได้กล่าว 4 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[311] เราต้องการจะเลี้ยงชีพ จึงได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว
จากนั้นจึงได้มีศรัทธา มีความเพียรบากบั่นมั่นคง โดยตั้งใจว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :390 }