เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [4. จตุตกกนิบาต] 2. ภคุเถรคาถา
4. จตุกกนิบาต
1. นาคสมาลเถรคาถา
ภาษิตของพระนาคสมาลเถระ
(พระนาคสมาลเถระพยากรณ์พระอรหัตด้วย 4 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[267] หญิงนักฟ้อนตกแต่งร่างกายนุ่งผ้าสวยงาม
ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์
ฟ้อนรำอยู่ในท่ามกลางถนนหลวง เมื่อดนตรีบรรเลงอยู่
[268] เมื่อเราเดินเข้าไปบิณฑบาต
ได้เห็นนางผู้ตกแต่งร่างกาย นุ่งผ้าสวยงาม
เหมือนบ่วงมัจจุราชที่วางดักไว้
[269] จากนั้น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นแก่เรา โทษก็ปรากฏ
ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[270] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา 31 ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

2. ภคุเถรคาถา
ภาษิตของพระภคุเถระ
(พระภคุเถระได้กล่าว 4 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[271] เราถูกความง่วงเหงาหาวนอนครอบงำ
ได้ออกไปจากที่อยู่ กำลังขึ้นที่จงกรม
ได้ล้มลงที่พื้นดินตรงนั้นเอง

เชิงอรรถ :
1 วิชชา 3 คือ (1) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ความรู้ที่ให้ระลึกชาติได้ (2) จุตูปปาตญาณ ความรู้การจุติ
และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย (3) อาสวักขยญาณ ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น (ที.ปา. 11/353/254)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :383 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [4. จตุตกกนิบาต] 3. สภิยเถรคาถา
[272] เรานั้นนวดตัวแล้ว กลับขึ้นที่จงกรมใหม่
มีใจตั้งมั่นดีแล้ว ได้จงกรม ณ ที่จงกรม
[273] จากนั้น โยนิโสมนสิการจึงเกิดขึ้นแก่เรา
โทษก็ปรากฏ ความเบื่อหน่ายก็เกิดขึ้นพร้อมกัน
[274] ต่อแต่นั้น จิตของเราก็หลุดพ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
เราบรรลุวิชชา 3 ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

3. สภิยเถรคาถา
ภาษิตของพระสภิยเถระ
(พระสภิยเถระแสดงธรรมด้วย 4 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[275] ชนเหล่าอื่นย่อมไม่รู้ว่า พวกเรากำลังย่อยยับอยู่ในโลกนี้
บรรดาชนเหล่านั้น ชนเหล่าใดรู้แจ้งอยู่
ความทะเลาะวิวาทกันย่อมระงับได้จากสำนักของชนเหล่านั้น
[276] เมื่อพวกที่ไม่รู้สึก ยังประพฤติยึดถืออยู่เหมือนจะไม่ตาย
ความทะเลาะวิวาทย่อมสงบลงไม่ได้เลย
ส่วนพวกที่รู้ธรรมตามความเป็นจริง
ย่อมไม่กระสับกระส่าย
ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายกระสับกระส่ายอยู่
[277] กรรมที่ย่อหย่อน วัตรที่เศร้าหมอง
และพรหมจรรย์ที่พึงระลึกถึงด้วยความระแวงสงสัย
ทุกอย่างนั้นไม่มีผลมาก
[278] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :384 }