เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] 15. หารติเถรคาถา
[258] เราเมื่อยังท่องเที่ยวไปมาได้ไปตกนรกบ้าง
ได้ไปถือปฏิสนธิยังเปตโลกบ้าง
ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอันมีแต่ทุกข์บ้าง
เราเสวยทุกข์อยู่หลายประการมาเป็นเวลานาน
[259] แม้อัตภาพมนุษย์ เราก็ผ่านมามากแล้ว
เราได้ไปสวรรค์เป็นครั้งคราว
และได้ดำรงอยู่ในรูปภพ อรูปภพ
เนวสัญญีนาสัญญีภพ (และ) อสัญญีภพ
[260] เรารู้แจ้งชัดภพทั้งหลายอันหาแก่นสารมิได้
ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ครั้นรู้แจ้งภพนั้นอันเกิดในตนแล้ว
จึงเป็นผู้มีสติ ได้บรรลุสันติธรรมที่แท้จริง

15. หาริตเถรคาถา
ภาษิตของพระหาริตเถระ
(พระหาริตเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[261] ผู้ต้องการจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง
ย่อมพลาดจากฐานะที่นำความสุขมาให้
และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
[262] บุคคลพึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำได้
ไม่พึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำไม่ได้
บัณฑิตย่อมรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
[263] นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี
เกษม เป็นที่ดับทุกข์ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :381 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] รวมเรื่องพระเถรที่มีในนิบาต
16. วิมลเถรคาถา
ภาษิตของพระวิมลเถระ
(พระวิมลเถระได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[264] ผู้ปรารถนาความสุขที่ยั่งยืน
พึงเว้นปาปมิตรเสียให้ไกล
คบหาแต่คนดี และพึงอยู่ในโอวาทของท่าน
[265] บุคคลเกาะท่อนไม้เล็ก ๆ ย่อมจมลงในมหาสมุทร ฉันใด
บุคคลแม้มีความเป็นอยู่ดี อาศัยคนเกียจคร้าน
ก็จมลงในสังสารวัฏได้ ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น บุคคลควรเว้นคนเกียจคร้าน
มีความเพียรย่อหย่อนเสีย
[266] บุคคลพึงอยู่ร่วมกับเหล่าบัณฑิตผู้สงัด เป็นอริยะ
มีใจเด็ดเดี่ยว เข้าฌานอยู่ ปรารภความเพียรเป็นนิตย์
ติกนิบาต จบ

รวมเรื่องพระเถรที่มีในนิบาตนี้ คือ

1. พระอังคณิกภารทวาชเถระ 2. พระปัจจยเถระ
3. พระพากุลเถระ 4. พระธนิยเถระ
5. พระมาตังคบุตรเถระ 6. พระขุชชโสภิตเถระ
7. พระวารณเถระ 8. พระปัสสิกเถระ
9. พระยโสชเถระ 10. พระสาฏิมัตติยเถระ
11. พระอุบาลีเถระ 12. พระอุตตรปาลเถระ
13. พระอภิภูตเถระ 14. พระโคตมเถระ
15. พระพาริตเถระ 16. พระวิมลเถระ

ในติกนิบาต รวมพระเถระได้ 16 รูป
รวมคาถาได้ 48 คาถา ฉะนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :382 }