เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] 10. สาฏิมัตติยเถรคาถา
9. ยโสชเถรคาถา
ภาษิตของพระยโสชเถระ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงสรรเสริญพระยโสชเถระว่า เป็นผู้มีความปรารถนา
น้อยอย่างยิ่ง จึงได้ตรัสพระคาถานี้ว่า)
[243] นรชนผู้รู้ประมาณในข้าวและน้ำ ย่อมซูบผอม
มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็นคล้ายเถาหญ้านาง แต่มีใจไม่ย่อท้อ
(พระยโสชเถระเมื่อกล่าวสอนธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[244] ภิกษุถูกเหลือบและยุงกัดในป่าใหญ่
พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายนั้น
เหมือนช้างในสงคราม
[245] ภิกษุอยู่ผู้เดียว เป็นเหมือนพรหม
อยู่ 2 รูปเหมือนเทพ
อยู่ 3 รูปเหมือนชาวบ้าน
อยู่มากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น

10. สาฏิมัตติยเถรคาถา
ภาษิตของพระสาฏิมัตติยเถระ
(สาฏิมัตติยเถระเมื่อกล่าวสอนธรรมแก่เจ้าของเรือนนั้น จึงได้กล่าว 3
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[246] เมื่อก่อน ท่านมีศรัทธา
(แต่)วันนี้ ท่านไม่มีศรัทธา
สิ่งใดเป็นของท่าน ขอสิ่งนั้นจงเป็นของท่านตามเดิมเถิด
เราไม่มีความทุจริต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :378 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] 12. อุตตรปาลเถรคาถา
[247] เพราะศรัทธาไม่เที่ยง คลอนแคลน
ศรัทธานั้น เราเห็นมาแล้วอย่างนั้น
คนทั้งหลายรักง่ายหน่ายเร็ว
ในความรักและความหน่ายนั้น พระมุนีจะชนะได้อย่างไร
[248] คนทั้งหลายย่อมหุงอาหารไว้เพื่อมุนี
ทุกตระกูล ตระกูลละเล็กละน้อย
เราจะเที่ยวบิณฑบาตด้วยปลีแข้ง เพราะกำลังแข้งของเรายังมีอยู่

11. อุปาลิเถรคาถา
ภาษิตของพระอุปาลิเถระ
(พระอุบาลีเถระเมื่อกล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[249] ภิกษุออกบวชใหม่ด้วยศรัทธา ยังใหม่(ต่อการศึกษา)
พึงคบกัลยาณมิตรผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน
[250] ภิกษุออกบวชใหม่ด้วยศรัทธา ยังใหม่อยู่ในหมู่สงฆ์
พึงเป็นผู้ฉลาดศึกษาพระวินัย
[251] ภิกษุออกบวชใหม่ด้วยศรัทธา ยังใหม่
พึงเป็นผู้ฉลาดในสิ่งที่ควรและไม่ควร
ไม่ควรประพฤติตนเป็นคนออกหน้าออกตา

12. อุตตรปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตตรเถระ
(พระอุตตรปาลเถระได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[252] เบญจกามคุณซึ่งทำใจให้ลุ่มหลง
ได้ทำเราผู้เป็นบัณฑิต สงบ
สามารถค้นคว้าประโยชน์ได้ ให้ตกอยู่ในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :379 }