เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] 7. วารณเถรคาถา
6. ขุชชโสภิตเถรคาถา
ภาษิตของพระขุชชโสภิตเถระ
(พระขุชชโสภิตเถระเมื่อจะบอกความประสงค์ที่ตนมาแก่เทวดา จึงได้กล่าว
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[234] สมณะทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร
เป็นพหูสูต เป็นชาวเมืองปาฏลีบุตร
ท่านขุชชโสภิตะนี้เป็นรูปหนึ่ง
ในภิกษุเหล่านั้น ผู้ยืนอยู่ที่ประตูถ้ำ
(เทวดา เมื่อจะประกาศเรื่องที่พระเถระมาให้สงฆ์ทราบ จึงได้กล่าวคาถาไว้
ดังนี้ว่า)
[235] สมณะทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร
เป็นพหูสูต เป็นชาวเมืองปาฏลีบุตร
ท่านขุชชโสภิตะนี้เป็นภิกษุรูปหนึ่ง ในภิกษุเหล่านั้น
มายืนอยู่ที่ประตูถ้ำได้ ดุจลมพัดมา
(พระเถระพยากรณ์พระอรหัตด้วยคาถานี้ว่า)
[236] ขุชชโสภิตภิกษุนี้ ได้รับความสุขด้วยอาการเหล่านี้
คือ ด้วยการรบดี การบูชาดี การชนะสงคราม
และการประพฤติพรหมจรรย์ประจำ

7. วารณเถรคาถา
ภาษิตของพระวารณเถระ
(พระผู้มีพระภาคเมื่อประทานโอวาทแก่พระวารณเถระ จึงได้ตรัส 3 คาถาไว้
ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :376 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] 8. ปัสสิกเถรคาถา
[237] ในหมู่มนุษย์นี้ นรชนผู้ใดผู้หนึ่งเบียดเบียนสัตว์อื่น
นรชนนั้นย่อมเสื่อมจากความสุข
ในโลกทั้งสอง คือ โลกนี้และโลกหน้า
[238] ส่วนนรชนใดมีจิตเมตตา ช่วยเหลือสัตว์ทุกหมู่เหล่า
นรชนเช่นนี้นั้นย่อมประสบบุญมาก
[239] บุคคลควรศึกษาคำสุภาษิต
การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ
การอยู่ผู้เดียวในที่ลับ
และธรรมเป็นเครื่องสงบระงับจิต

8. ปัสสิกเถรคาถา
ภาษิตของพระปัสสิกเถระ
(พระปัสสิกเถระเมื่อกราบทูลพระศาสดาถึงอุปการะที่ตนทำแก่พวกญาติ จึง
ได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[240] คนมีศรัทธา มีปัญญาดี ตั้งอยู่ในธรรม
มีศีลสมบูรณ์ แม้เพียงคนเดียว
ย่อมมีประโยชน์แก่ญาติและพวกพ้องทั้งหลายผู้ไม่มีศรัทธา
[241] ญาติทั้งหลายถูกเราผู้มีความรักญาติและพวกพ้อง
แนะนำตักเตือนแล้วด้วยความเอ็นดู
จึงทำสักการะบูชาในภิกษุทั้งหลาย
[242] ญาติเหล่านั้นตายล่วงลับไป
ได้รับความสุขในเทพชั้นดาวดึงส์
พี่น้องชายและมารดาของข้าพระองค์
พรั่งพร้อมด้วยกามคุณตามที่ปรารถนา บันเทิงอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :377 }