เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] 4. ธนิยเถรคาถา
[223] เมื่อเรายังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
เราจะไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่ออกไปจากวิหาร
ทั้งจะไม่เอนกายนอน
[224] เชิญท่านดูความเพียร
ความบากบั่นของเรานั้นผู้อยู่อย่างนี้ เราบรรลุวิชชา 3
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

3. พากุลเถรคาถา
ภาษิตของพระพากุลเถระ
(พระพากุลเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[225] ผู้ต้องการจะทำกิจที่ควรทำก่อนในภายหลัง
ย่อมพลาดจากฐานะที่นำความสุขมาให้
และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง
[226] บุคคลพึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำได้
ไม่พึงพูดถึงสิ่งที่ตนทำไม่ได้
บัณฑิตทั้งหลายย่อมรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
[227] นิพพานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เกษม เป็นที่ดับทุกข์ได้

4. ธนิยเถรคาถา
ภาษิตของพระธนิยเถระ
(พระธนิยเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[228] ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ
ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย
ไม่ควรดูหมิ่นจีวร ข้าว และน้ำอันเป็นของสงฆ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :374 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [3. ติกนิบาต] 5. มาตังคปุตตเถรคาถา
[229] ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ
ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย
พึงใช้สอยที่นอนที่นั่ง
เหมือนงูอาศัยรูหนูอยู่
[230] ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ
ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย
พึงยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้
และพึงเจริญธรรมอันเอก1

5. มาตังคปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระมาตังคบุตรเถระ
(พระมาตังคบุตรเถระเมื่อจะติเตียนความเกียจคร้านและยกย่องการปรารภ
ความเพียร จึงได้กล่าว 3 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[231] ขณะทั้งหลายย่อมล่วงเลยมาณพทั้งหลาย
ผู้ละทิ้งการงานด้วยอ้างว่า เวลานี้
หนาวนัก ร้อนนัก เป็นเวลาเย็นนัก
[232] ส่วนผู้ไม่คำนึงถึงความหนาวและความร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า
ทำหน้าที่ของคนอยู่
ย่อมไม่เสื่อมจากความสุข
[233] เราจะใช้อกฝ่าหญ้าแพรก หญ้าคา หญ้าดอกเลา
หญ้าแฝก หญ้ามุงกระต่าย
และหญ้าปล้อง พอกพูนวิเวก

เชิงอรรถ :
1 ภาวะแห่งความไม่ประมาท (ขุ.เถร.อ. 1/230/537)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :375 }