เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 2. ธัมมปาลเถรคาถา
[201] น่าอัศจรรย์หนอ พระพุทธเจ้า พระธรรม
และสัมปทาของพระศาสดาของเราทั้งหลาย
อันเป็นที่จะทำพระสาวกให้รู้แจ้งธรรมเช่นนั้นได้
[202] บรรดาพระสาวกที่หยั่งรู้ถึงกายของตน1
ได้ในอสงไขยกัป2นั้น
พระกุมารกัสสปะนี้เป็นองค์สุดท้าย
ร่างกายนี้เป็นร่างกายสุดท้าย
การเวียนว่ายตายเกิดเป็นวาระสุดท้าย
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก

2. ธัมมปาลเถรคาถา
ภาษิตของพระธัมมปาลเถระ
(พระธรรมปาลเถระเมื่อจะแสดงธรรมโปรดพวกสามเณร จึงได้กล่าว 2
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[203] ภิกษุใดแลยังหนุ่มแน่น
ประกอบความขวนขวายในพระพุทธศาสนา
ผู้ตื่นอยู่ ในเมื่อคนเหล่าอื่นหลับแล้ว
ชื่อว่าไม่ไร้ผล
[204] เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้มีปัญญา
ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จึงควรประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส
และการเห็นธรรมเนือง ๆ

เชิงอรรถ :
1 หยั่งรู้อุปาทานขันธ์ คือ ขันธ์ที่อาศัยความยึดมั่นถือมั่น (ขุ.เถร.อ. 1/202/501)
2 มหากัปที่ผ่านไปนานจนไม่สามารถนับได้ (ขุ.เถร.อ. 1/202/503)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :368 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 5. ปัญจมวรรค 4. โมฆราชเถรคาถา
3. พรหมาลิเถรคาถา
ภาษิตของพระพรหมาลิเถระ
(พระพรหมาลิเถระเมื่อจะยกย่องการประกอบความเพียรเนือง ๆ จึงได้กล่าว
2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[205] อินทรีย์ของใครถึงความสงบ
เหมือนม้าที่นายสารถีฝึกดีแล้ว
แม้เทวดาทั้งหลาย ก็กระหยิ่ม(ชื่นชม)ต่อผู้นั้น
ซึ่งละมานะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้คงที่
[206] อินทรีย์ของเราถึงความสงบ
เหมือนม้าตัวที่นายสารถีฝึกดีแล้ว
แม้เทวดาทั้งหลาย ก็กระหยิ่มต่อเรา
ซึ่งละมานะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ เป็นผู้คงที่

4. โมฆราชเถรคาถา
ภาษิตของพระศาสดาตรัสถามพระโมฆราชเถระ
(พระศาสดาตรัสถามพระโมฆราชเถระ ด้วยพระคาถาที่ 1 ว่า)
[207] โมฆราชผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง แต่มีจิตดีงาม
เธอเป็นภิกษุมีจิตตั้งมั่นเนืองนิตย์
จะทำอย่างไรตลอดราตรีกาล
ที่หนาวเหน็บในฤดูเหมันต์
พระโมฆราชเถระ (เมื่อจะทูลตอบพระศาสดา จึงได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า)
[208] ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า
ชาวมคธเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ข้าพระองค์พึงคลุมกายด้วยฟางแล้วนอน
เหมือนกับภิกษุเหล่าอื่น ผู้มีความเป็นอยู่สบาย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :369 }