เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 7. โสณโปฏิริยปุตตเถรคาถา
6. ขิตกเถรคาถา
ภาษิตของพระขิตกเถระ
(พระขิตกเถระเมื่อจะข่มพวกภิกษุผู้อยู่ป่า จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[191] จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน
[192] จิตของเราตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดังภูเขา
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง
เราอบรมจิตได้แล้วอย่างนี้
ทุกข์จะมาถึงเราแต่ที่ไหน

7. โสณโปฏิริยปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระโสณโปฏิริยปุตตเถระ
(พระผู้มีพระภาค เมื่อจะตรัสสอนพระโสณโปฏิริยบุตรเถระ จึงได้ตรัสพระ
คาถาว่า)
[193] ราตรีที่ประกอบด้วยฤกษ์มาลินี1
มิใช่เป็นราตรีที่จะหลับก่อน
ราตรีเช่นนี้เป็นราตรีที่ผู้รู้แจ้งปรารถนาแล้ว
เพื่อประกอบความเพียรโดยแท้

เชิงอรรถ :
1 ฤกษ์มาลินี หมายถึง ฤกษ์ที่มีดวงดาวขึ้นเป็นกลุ่มเหมือนพวงดอกไม้ (ดาวลูกไก่) เป็นฤกษ์ที่ควรทำความ
เพียร ไม่ใช่เวลานอน (ขุ.เถร.อ. 1/193/488)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :365 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 9. อุสภเถรคาถา
(พระโสณโปฏิริยเถระได้ฟังพระดำรัสนั้นก็สลดใจ กลับได้หิริโอตตัปปะ
อธิษฐานอัพโภกาสิกังคธุดงค์1 กระทำการเจริญวิปัสสนา ได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า)
[194] ถ้าช้างพึงเหยียบเราผู้ตกจากคอช้าง
เราตายเสียในสงครามประเสริฐกว่า
แพ้แล้วเป็นอยู่จะประเสริฐอะไร

8. นิสภเถรคาถา
ภาษิตของพระนิสภเถระ
(พระนิสภเถระ เมื่อจะกล่าวสอนภิกษุสหายทั้งหลาย จึงได้กล่าว 2 คาถา
ไว้ดังนี้ว่า)
[195] วิญญูชนละเบญจกามคุณ ซึ่งน่ารักน่ารื่นรมย์ใจ
ออกบวชด้วยศรัทธา พึงทำที่สุดทุกข์ได้
[196] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า คอยเวลาอันควร

9. อุสภเถรคาถา
ภาษิตของพระอุสภเถระ
(พระอุสภเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[197] เราฝันว่าได้ห่มจีวรสีใบมะม่วงอ่อนเฉวียงบ่า
นั่งบนคอช้าง เข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน
[198] ลงจากคอช้างแล้ว ได้ความสลดใจ
ครั้งนั้น เรานั้นมีความสว่าง
ได้ความสลดใจ ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว

เชิงอรรถ :
1 องค์แห่งผู้ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร (ขุ.เถร.อ. 1/193/489)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :366 }