เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 3. ตติยวรรค 3. โสภิตเถรคาถา
[164] มีชั้นพันชั้น ร้อยยอด สะพรั่งไปด้วยธง
พราวไปด้วยแก้วสีเขียว
ในปราสาทนั้น มีนักฟ้อนหกพันคน แบ่งเป็น 7 กลุ่ม
พากันฟ้อนรำอยู่

3. โสภิตเถรคาถา
ภาษิตของพระโสภิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสภิตเถระ เมื่อเปล่งอุทาน จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า
[165] เราเป็นภิกษุ มีสติ มีปัญญา บำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า
ระลึกชาติก่อนได้ 500 กัปเพียงคืนเดียว
[166] เราเจริญสติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 มรรค 81
ระลึกชาติก่อนได้ 500 กัป เพียงคืนเดียว

เชิงอรรถ :
1 สติปัฏฐาน 4 หมายถึงที่ตั้งของสติ 4 ประการ คือ
(1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์
(2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์
(3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาจิตเป็นอารมณ์
(4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์.
(ที.ม. 10/373/248)
โพชฌงค์ 7 ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ คือ
(1) สติ ความระลึกได้ (2) ธัมมวิจยะ ความเฟ้นธรรม
(3) วิริยะ ความเพียร (4) ปีติ ความอิ่มใจ
(5) ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ (6) สมาธิ ความตั้งใจมั่น
(7) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง
(ที.ป. 11/357/258)
มรรค 8 ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ คือ
(1) สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (2) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
(3) สัมมาวาจา เจรจาชอบ (4) สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ
(5) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (6) สัมมาวายาม พยายามชอบ
(7) สัมมาสติ ระลึกชอบ (8) สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ
(ที.ม. 10/402/266)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :358 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 3. ตติยวรรค 6. ปุณณมาสเถรคาถา
4. วัลลิยเถรคาถา
ภาษิตของพระวัลลิยเถระ
(พระวัลลิยเถระเมื่อจะถามพระเวณุทัตตเถระ จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[167] กิจใดอันบุคคลผู้มีความเพียรมั่น
มุ่งที่จะตรัสรู้ พึงทำกิจนั้น
เราจักทำไม่ให้พลาด
เชิญท่านดูความเพียร ความบากบั่นของเราเถิด
[168] อนึ่ง ขอท่านจงบอกหนทางอันหยั่งลงสู่อมตมหานิพพาน
ซึ่งเป็นทางตรงให้เรา เราจะรู้ด้วยญาณ
ดุจกระแสแม่น้ำคงคาไหลไปสู่สาคร

5. วีตโสกเถรคาถา
ภาษิตของพระวีตโสกเถระ
(พระวีตโสกเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[169] ช่างกัลบกเข้ามาหาเรา ด้วยคิดว่า จักตัดผมของเรา
เราจึงรับเอากระจกจากช่างกัลบกนั้นมาส่องดูร่างกาย
[170] ร่างกายได้ปรากฏเป็นสภาพว่างเปล่า
ความบอด ความมืดได้สิ้นไป
กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวง เราตัดขาดด้วยดีแล้ว
บัดนี้ ไม่มีการเกิดอีก

6. ปุณณมาสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุณณมาสเถระ
(พระปุณณเถระเมื่อจะแสดงธรรมแก่ภรรยาเก่า จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :359 }