เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 3. ตติยวรรค 2. ภัททชิเถรคาถา
รวมเรื่องพระเถระที่มีในวรรคนี้ คือ

1. พระมหาจุนทเถระ 2. พระโชติทาสเถระ
3. พระเหรัญญิกานิเถระ 4. พระโสมมิตตเถระ
5. พระสัพพมิตตเถระ 6. พระมหากาลเถระ
7. พระติสสเถระ 8. พระกิมพิลเถระ
9. พระนันทเถระ 10. พระสิริมเถระ

3. ตติยวรรค
หมวดที่ 3
1. อุตตรเถรคาถา
ภาษิตของพระอุตตรเถระ
(พระอุตตรเถระเมื่อพยากรณ์พระอรหัต จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[161] เรากำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้ว ถอนตัณหาขึ้นได้ด้วยดี
ถึงโพชฌงค์เราเจริญแล้ว เราได้ถึงความสิ้นอาสวะแล้ว
[162] ครั้นกำหนดรู้ขันธ์ทั้งหลายแล้ว ถอนตัณหาดุจข่ายได้
เจริญโพชฌงค์แล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะนิพพาน

2. ภัททชิเถรคาถา
ภาษิตของพระภัททชิเถระ
(พระภัททชิเถระสรรเสริญปราสาททองที่ตนเคยครอบครอง จึงได้กล่าว 2
คาถาไว้ดังนี้ว่า)
[163] พระราชาทรงพระนามว่าปนาทะ
มีปราสาททองกว้างและสูงประมาณ 16 โยชน์
ชนทั้งหลายกล่าวกันว่าสูงประมาณ 1,000 โยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :357 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [2. ทุกนิบาต] 3. ตติยวรรค 3. โสภิตเถรคาถา
[164] มีชั้นพันชั้น ร้อยยอด สะพรั่งไปด้วยธง
พราวไปด้วยแก้วสีเขียว
ในปราสาทนั้น มีนักฟ้อนหกพันคน แบ่งเป็น 7 กลุ่ม
พากันฟ้อนรำอยู่

3. โสภิตเถรคาถา
ภาษิตของพระโสภิตเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสภิตเถระ เมื่อเปล่งอุทาน จึงได้กล่าว 2 คาถาไว้ดังนี้ว่า
[165] เราเป็นภิกษุ มีสติ มีปัญญา บำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า
ระลึกชาติก่อนได้ 500 กัปเพียงคืนเดียว
[166] เราเจริญสติปัฏฐาน 4 โพชฌงค์ 7 มรรค 81
ระลึกชาติก่อนได้ 500 กัป เพียงคืนเดียว

เชิงอรรถ :
1 สติปัฏฐาน 4 หมายถึงที่ตั้งของสติ 4 ประการ คือ
(1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์
(2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาเวทนาเป็นอารมณ์
(3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาจิตเป็นอารมณ์
(4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติกำหนดพิจารณาธรรมเป็นอารมณ์.
(ที.ม. 10/373/248)
โพชฌงค์ 7 ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ 7 ประการ คือ
(1) สติ ความระลึกได้ (2) ธัมมวิจยะ ความเฟ้นธรรม
(3) วิริยะ ความเพียร (4) ปีติ ความอิ่มใจ
(5) ปัสสัทธิ ความสงบกายสงบใจ (6) สมาธิ ความตั้งใจมั่น
(7) อุเบกขา ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามความเป็นจริง
(ที.ป. 11/357/258)
มรรค 8 ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ คือ
(1) สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ (2) สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
(3) สัมมาวาจา เจรจาชอบ (4) สัมมากัมมันตะ การกระทำชอบ
(5) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ (6) สัมมาวายาม พยายามชอบ
(7) สัมมาสติ ระลึกชอบ (8) สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ
(ที.ม. 10/402/266)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :358 }