เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 5. สามัญญกานิเถรคาถา
3. โสปากเถรคาถา
ภาษิตของพระโสปากเถระ
ทราบว่า ท่านพระโสปากเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[33] บุคคลมีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา
ในบุตรคนเดียวที่น่ารัก ฉันใด
ภิกษุพึงมีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา
ในสัตว์ทั้งปวงในที่ทุกแห่ง ฉันนั้น

4. โปสิยเถรคาถา
ภาษิตของพระโปสิยเถระ
ทราบว่า ท่านพระโปสิยเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[34] หญิงเหล่านี้ไม่เข้าใกล้เป็นการดี
แต่พอเข้าใกล้ ก็จักก่อความพินาศให้เนืองนิตย์
เราออกจากป่ามาสู่บ้าน จากนั้นก็เข้าไปยังเรือน
เราชื่อโปสิยะ ไม่บอกลาใคร ลุกจากเตียงหลีกหนีไป

5. สามัญญกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระสามัญญกานิเถระ
ทราบว่า ท่านพระสามัญญกานิเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[35] บุคคลผู้ต้องการนิรามิสสุข
ประพฤติให้สมควรแก่การได้ความสุขนั้น ย่อมได้ความสุข
ผู้บำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นทางสายตรง
ไม่คดเคี้ยว เพื่อบรรลุอมตบท1
ย่อมได้เกียรติคุณและเจริญยศ

เชิงอรรถ :
1 ธาตุที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง (ขุ.เถร.อ. 1/35/154)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :315 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา [1. เอกกนิบาต] 4. จตุตถวรรค 8. ควัมปติเถรคาถา
6. กุมาปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระกุมาบุตรเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุมาบุตรเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[36] การฟังเป็นความดี
การประพฤติตนเป็นคนมักน้อยเป็นความดี
การปฏิบัติเพื่อละกามคุณ 5 ทุกเมื่อเป็นความดี
การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี
การปฏิบัติตามโอวาทโดยเคารพเป็นความดี
กิจมีการฟังเป็นต้นเป็นเครื่องหมายความเป็นสมณะผู้หมดความกังวล

7. กุมาปุตตเถรสหายกเถรคาถา
ภาษิตของพระกุมาบุตรสหายกเถระ
ทราบว่า ท่านพระกุมาบุตรเถรสหายกเถระได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้ว่า
[37] ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่สำรวมจิต ท่องเที่ยวไปตามชนบทต่าง ๆ
ย่อมทำสมาธิคลาดเคลื่อน
การท่องเที่ยวไปยังแว่นแคว้นจะช่วยอะไรได้เล่า
เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงกำจัดความแข่งดี
ไม่พึงให้มิจฉาวิตกและกิเลสมีตัณหาเป็นต้นครอบงำ เจริญฌาน

8. ควัมปติเถรคาถา
ภาษิตของพระควัมปติเถระ
ทราบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญพระควัมปติเถระด้วยพระคาถาดังนี้ว่า
[38] เทวดาทั้งหลายพากันนอบน้อมพระควัมปติ
ผู้ห้ามแม่น้ำสรภูให้หยุดไหลได้ด้วยฤทธิ์
ไม่ติดอยู่ในกิเลสและตัณหาไร ๆ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งอะไรทั้งสิ้น
ข้ามกิเลสเครื่องข้องทั้งหมดเสียได้
เป็นมหามุนี ผู้บรรลุนิพพานแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :316 }