เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 12. อัมพวนเปตวัตถุ
12. อัมพวนเปตวัตถุ
เรื่องเปรตเฝ้าสวนมะม่วง
(พวกพ่อค้าได้ถามเวมานิกเปรตตนหนึ่งว่า)
[796] สระโบกขรณีของท่านนี้แสนจะน่ารื่นรมย์
มีพื้นราบเรียบ มีท่าน้ำงดงาม มีน้ำมาก
มีดอกไม้บานสะพรั่ง ขวักไขว่ด้วยหมู่ภมร
ท่านได้สระโบกขรณีเป็นที่เจริญใจนี้มาอย่างไร
[797] สวนมะม่วงของท่านนี้แสนจะน่ารื่นรมย์
กำลังเผล็ดผล มีดอกบานสพรั่ง ขวักไขว่ไปด้วยหมู่ภมร
นำความสุขมาให้ ทุกฤดูกาล
ท่านได้วิมานนี้มาอย่างไร
(เวมานิกเปรตนั้นตอบว่า)
[798] ข้าพเจ้าได้สวนมะม่วงมีร่มเงาเย็นน่ารื่นรมย์ใจในที่นี้
เพราะทานที่ธิดาของข้าพเจ้าถวายมะม่วงสุก
น้ำ ข้าวยาคูแล้วอุทิศให้
(ธิดาของเปรตนั้นบอกลูกของตนเองว่า)
[799] ขอลูกจงดูผลแห่งทาน ความข่มใจ
และความสำรวมที่เห็นผลทันตาอย่างนี้
แม่เป็นสาวใช้ มาเป็นลูกสะใภ้เป็นใหญ่ในเรือนในตระกูลของลูก
(ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงเห็นนางมีญาณแก่กล้า จึงแผ่รัศมีไปแสดง
พระองค์ให้ปรากฏดุจประทับยืนอยู่เฉพาะหน้า แล้วได้ตรัสคาถานี้ว่า)
สิ่งที่ไม่น่าชอบใจย่อมครอบงำผู้ประมาทโดยอาการที่น่าชอบใจ
สิ่งที่ไม่น่ารักย่อมครอบงำผู้ประมาทโดยอาการที่น่ารัก
และสิ่งที่เป็นทุกข์ย่อมครอบงำผู้ประมาทได้โดยอาการที่เป็นสุข
อัมพวนเปตวัตถุที่ 12 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :298 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 14. โภคสังหรเปตวัตถุ
13. อักขรุกขเปตวัตถุ
เรื่องอักขรุกขเปรต
(ภุมเทวดาตนหนึ่งเตือนอุบาสกคนหนึ่งว่า)
[800] ทายกให้สิ่งใด ผลจะเป็นสิ่งนั้นก็หาไม่
เพราะฉะนั้นบุคคลพึงให้ทานเถิด
ครั้นให้ทานแล้ว ย่อมข้ามพ้นทุกข์และความพินาศทั้งสอง
ย่อมประสบสุขทั้งสอง1 เพราะทานนั้น
ท่านจงตื่นเถิด อย่าได้ประมาทเลย
อักขรุกขเปตวัตถุที่ 13 จบ

14. โภคสังหรเปตวัตถุ
เรื่องเปรตรวบรวมโภคะ
(เวลากลางคืน หญิงเปรต 4 ตน ถูกทุกข์ครอบงำ จึงพากันร้องไห้รำพึงรำพัน
ด้วยเสียงดังอย่างน่ากลัวว่า)
[801] พวกเรารวบรวมโภคทรัพย์ไว้โดยชอบธรรมบ้าง
ไม่ชอบธรรมบ้าง
แต่คนอื่น ๆ พากันใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น
พวกเรากลับได้รับทุกข์2
โภคสังหรเปตวัตถุที่ 14 จบ

เชิงอรรถ :
1 คือ สุขในภพนี้และภพหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น (ขุ.เป.อ. 800/298)
2 เหตุที่เปรตเหล่านั้นได้รับทุกข์ เพราะรวบรวมโภคะไว้มากโดยทางทุจริต แล้วไม่นำไปทำประโยชน์แก่
ใคร ตายไปแล้วมาเกิดเป็นเปรต ร้องโหยหวน เสียดายทรัพย์เมื่อเห็นผู้อื่นใช้สอยทรัพย์ของตน (ขุ.เป.อ.
801/300)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :299 }