เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[155] หม่อมฉันมีใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เชื่อมั่นไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย ได้รักษาสิกขาบท (ศีล) มิให้ขาด
บรรลุอริยผลมีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า1 ไม่มี
ทุกข์ (เมื่อจะทรงชื่นชมบุญสมบัติและทิพยสมบัติของเทพธิดานั้น
ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสคาถาครึ่ง ความว่า)
[156] แม่เทพธิดาผู้มีใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เชื่อมั่นไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย รักษาสิกขาบทมิให้ขาด
บรรลุอริยผล มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ไม่มีทุกข์ เราขอแสดงความชื่นชมต่อบุญสมบัติและทิพยสมบัติของ
เธอนั้น และขอแสดงความยินดีต่อการมาดีของเธอ
เธอก็รุ่งเรืองด้วยธรรมและบริวารยศ
เปสการิยวิมานที่ 17 จบ

รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมปีฐวิมาน 2. ทุติยปีฐวิมาน
3. ตติยปีฐวิมาน 4. จตุตถปีฐวิมาน
5. กุญชรวิมาน 6. ปฐมนาวาวิมาน
7. ทุติยนาวาวิมาน 8. ตติยนาวาวิมาน
9. ปทีปวิมาน 10. ติลทักขิณวิมาน
11. ปฐมปติพพตาวิมาน 12. ทุติยปติพพตาวิมาน
13. ปฐมสุณิสาวิมาน 14. ทุติยสุณิสาวิมาน
15. อุตตราวิมาน 16. สิริมาวิมาน
17. เปสการิยวิมาน

ท่านเรียกว่า “วรรค” ด้วยการรวมเรื่องวิมานนั้น
ปีฐวรรคที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึง มรรค 3 เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ที.สี.อ.
1/377/281)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :28 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 2. จิตตลตาวรรค 1. ทาสีวิมาน
2. จิตตลตาวรรค
หมวดว่าด้วยสวนจิตลดาของเหล่าเทวดา
1. ทาสีวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงคนใช้
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[157] เธอมีหมู่เทพนารีห้อมล้อม ดุจท้าวสักกเทวราช
เที่ยวชมไปโดยรอบในสวนจิตรลดาอันน่ารื่นรมย์
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[158] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[159] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[160] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[161] เมื่อดิฉันเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นคนใช้ ทำงานรับใช้ผู้อื่นอยู่ในสกุลหนึ่ง
[162] เป็นอุบาสิกาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงมีพระจักษุ ทรงพระยศ
ดิฉันได้มีความพากเพียรออกจากกิเลส
ในศาสนาของพระศาสดาผู้ทรงพระคุณคงที่
เพราะมีมนสิการมั่นอยู่ในใจว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :29 }