เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 3. นันทกเปตวัตถุ
[655] พ่อค้าเหล่านั้นต้องการทรัพย์ หวังกำไร
ไปถึงสินธุและโสวีระประเทศ พยายามค้าขายตามปรารถนา
มีลาภบริบูรณ์ กลับมาเมืองปาฏลีบุตรโดยปลอดภัย
[656] พ่อค้าเหล่านั้นไปเรือนของตน
มีความสวัสดี พร้อมหน้าบุตรภรรยา
มีจิตเพลิดเพลิน ดีใจ ปลาบปลื้ม
บูชาเสรีสกเทพบุตรอย่างโอฬาร
ได้ช่วยกันสร้างเทวาลัยชื่อเสรีสกะขึ้น
[657] การคบสัตบุรุษให้สำเร็จประโยชน์อย่างนี้
การคบผู้มีคุณธรรมมีประโยชน์มาก
พ่อค้าทั้งหมดได้ประสบความสุข
เพราะผลอันสืบเนื่องมาจากอุบาสกคนเดียว
เสรีสกเปตวัตถุที่ 2 จบ
ภาณวารที่ 3 จบ

3. นันทกเปตวัตถุ1
เรื่องนันทกเปรต
(เพื่อจะแสดงเนื้อความนั้น พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า)
[658] มีพระราชาพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าปิงคลกะ
เป็นใหญ่แห่งชาวสุรัฏฐวิสัย เสด็จไปเฝ้าพระเจ้าโมริยะแล้ว
กลับมาถึงทางที่จะไปยังสุรัฏฐวิสัยอีก
[659] เสด็จมาถึงทางโค้ง ในเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาร้อน
ได้ทอดพระเนตรเห็นทางที่น่ารื่นรมย์
เป็นทางทรายที่เปรตเนรมิตไว้นั้น

เชิงอรรถ :
1 เรื่องนี้เกิดหลังพุทธปรินิพพานประมาณ 200 ปี (ขุ.เป.อ. 123/261)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :276 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 3. นันทกเปตวัตถุ
[660] จึงตรัสบอกนายสารถีว่า
“ทางนี้น่ารื่นรมย์ ปลอดภัย สะดวก ปลอดโปร่ง
สารถี พวกเราตรงไปทางนี้แหละ
จากที่นี้ไปไม่ไกลก็จะถึงสุรัฏฐประเทศ”
[661] พระเจ้าสุรัฏฐ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทางนั้น
พร้อมด้วยกองทัพ 4 เหล่า
บุรุษคนหนึ่งตกใจกลัวได้กราบทูลพระเจ้าสุรัฏฐ์ ดังนี้ว่า
[662] “พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัว
น่าขนพองสยองเกล้า
เพราะทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ
[663] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต
กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา ข้าพระองค์ได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว”
[664] พระเจ้าสุรัฏฐ์ทรงตกพระทัย ตรัสกับนายสารถีดังนี้ว่า
“พวกเราเดินทางผิดเสียแล้ว เป็นทางน่ากลัวน่าขนพองสยองเกล้า
ทางปรากฏเฉพาะข้างหน้า แต่ข้างหลังไม่ปรากฏ
[665] พวกเราเดินผิดทางเสียแล้ว เห็นจะมาใกล้พวกเปรต
กลิ่นอมนุษย์ฟุ้งมา เราได้ยินเสียงพิลึกน่าสะพรึงกลัว”
[666] จึงเสด็จขึ้นคอช้าง ทอดพระเนตรไปทั่วทั้ง 4 ทิศ
ทรงเห็นต้นไทรย้อยต้นหนึ่ง มีร่มหนาทึบดี
เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ
[667] จึงรับสั่งกับนายสารถีว่า “ป่าใหญ่เขียวชอุ่มดุจสีเมฆ
ทั้งสีและสัณฐานคล้ายเมฆ ปรากฏอยู่นั่นใช่ไหม”
(นายสารถีกราบทูลว่า)
[668] “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า นั้นต้นไทรย้อย มีร่มหนาทึบดี
เขียวชอุ่มคล้ายสีเมฆ ทั้งสีและสัณฐานก็คล้ายเมฆ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :277 }