เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 17. เปสการิยวิมาน
17. เปสการิยวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่ธิดาช่างหูก
(ท้าวสักกะตรัสถามเทพธิดาว่า)
[150] วิมานนี้น่ารื่นรมย์ เสาทำด้วยแก้วไพฑูรย์
เปล่งแสงเรืองรองอยู่เป็นนิตย์
จัดไว้เป็นสัดส่วนอย่างดี มีต้นไม้ทองขึ้นรอบด้าน
เป็นสถานที่เกิดมีเพราะผลกรรมของเรา
[151] เทพอัปสรซึ่งมีอยู่ก่อนตั้งแสนเหล่านี้
เกิดในวิมานนั้นด้วยกรรมของตน
เธอก็เกิดเองด้วยกรรมของตน มีบริวารยศ
เปล่งรัศมีข่มเหล่าเทพอัปสรผู้เกิดก่อนอยู่
[152] เธอผู้ทรงบริวารยศ เปล่งรัศมีรุ่งเรืองข่มหมู่เทพอัปสรนี้อยู่
ประหนึ่งพระจันทร์ ผู้เป็นราชาแห่งดาวนักษัตร
ส่องแสงสกาวข่มหมู่ดาวอยู่ฉะนั้นเทียว
[153] แม่เทพธิดาผู้น่าชม มองแล้วไม่เบื่อ
เธอมาจากไหนหนอจึงอุบัติยังภพของเรานี้
เราทั้งมวลมองดูเธอไม่รู้จักอิ่ม เหมือนทวยเทพชั้นไตรทศ1
รวมทั้งพระอินทร์มองดูพระพรหมไม่รู้จักอิ่ม
(เทพธิดาผู้อันท้าวสักกเทวราชตรัสถามอย่างนั้นแล้ว เมื่อจะประกาศเนื้อความ
นั้นจึงกล่าวตอบเป็น 2 คาถาว่า)
[154] ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้อที่พระองค์รับสั่งถามหม่อมฉันว่า
เธอจุติจากภพไหนจึงได้มาเกิดที่ภพของเรานี้
หม่อมฉันขอเฉลยว่า เมื่อชาติก่อนหม่อมฉันเกิดเป็นธิดาของช่างหูก
อยู่ในกรุงพาราณสีซึ่งเป็นราชธานีแคว้นกาสี

เชิงอรรถ :
1 ดาวดึงส์ (ขุ.วิ.อ. 153/97)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :27 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรค
[155] หม่อมฉันมีใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เชื่อมั่นไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย ได้รักษาสิกขาบท (ศีล) มิให้ขาด
บรรลุอริยผลมีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า1 ไม่มี
ทุกข์ (เมื่อจะทรงชื่นชมบุญสมบัติและทิพยสมบัติของเทพธิดานั้น
ท้าวสักกเทวราชจึงตรัสคาถาครึ่ง ความว่า)
[156] แม่เทพธิดาผู้มีใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์
เชื่อมั่นไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย รักษาสิกขาบทมิให้ขาด
บรรลุอริยผล มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ไม่มีทุกข์ เราขอแสดงความชื่นชมต่อบุญสมบัติและทิพยสมบัติของ
เธอนั้น และขอแสดงความยินดีต่อการมาดีของเธอ
เธอก็รุ่งเรืองด้วยธรรมและบริวารยศ
เปสการิยวิมานที่ 17 จบ

รวมเรื่องวิมานที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมปีฐวิมาน 2. ทุติยปีฐวิมาน
3. ตติยปีฐวิมาน 4. จตุตถปีฐวิมาน
5. กุญชรวิมาน 6. ปฐมนาวาวิมาน
7. ทุติยนาวาวิมาน 8. ตติยนาวาวิมาน
9. ปทีปวิมาน 10. ติลทักขิณวิมาน
11. ปฐมปติพพตาวิมาน 12. ทุติยปติพพตาวิมาน
13. ปฐมสุณิสาวิมาน 14. ทุติยสุณิสาวิมาน
15. อุตตราวิมาน 16. สิริมาวิมาน
17. เปสการิยวิมาน

ท่านเรียกว่า “วรรค” ด้วยการรวมเรื่องวิมานนั้น
ปีฐวรรคที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึง มรรค 3 เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (ที.สี.อ.
1/377/281)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :28 }