เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
[599] โยมจะถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง
ข้าว น้ำ ของกินของเคี้ยว ผ้า และที่อยู่อาศัย
[600] โยมยินดีในพระพุทธศาสนา ไม่หวั่นไหว
จะถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
[601] เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีทรงเป็นอุบาสกคนหนึ่งในเมืองไพสาลี
ทรงมีศรัทธา และมีพระหฤทัยอ่อนโยนเช่นนั้น
ทรงทำอุปการะ บำรุงพระภิกษุสงฆ์โดยเคารพในกาลนั้น
[602] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ หายโรค
มีอิสระ สบายดี ได้บรรพชาแล้ว
แม้คนทั้งสองอาศัยกัปปิตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญญผล1
[603] การคบสัตบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากแก่สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่
บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบได้บรรลุอรหัตตผล
ส่วนเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีได้บรรลุโสตาปัตติผล
อัมพสักขรเปตวัตถุที่ 1 จบ

2. เสรีสกเปตวัตถุ
เรื่องเสรีสกเปรต
(พระควัมปติกล่าวว่า)
[604] ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเทวดาและพวกพ่อค้า
ที่ได้มาพบกันในทางทะเลทรายในคราวนั้น
และขอเชิญทุกท่านฟังถ้อยคำตามที่เทวดา
และพวกพ่อค้ากล่าวสนทนากัน

เชิงอรรถ :
1 สามัญญผล แปลว่า ผลแห่งความเป็นสมณะ ความเป็นสมณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา
พระผู้มีพระภาคทรงพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การบวชได้ผลเห็นประจักษ์ (หมายถึงการบรรลุมรรค 4 ผล 4
นิพพาน 1 ไปตามลำดับ) (สุตฺต 9/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :265 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
[605] ยังมีพระราชาผู้ทรงยศพระนามว่า ปายาสิ
ได้เกิดร่วมกับหมู่ภุมเทวดา
มีบริวารยศบันเทิงอยู่ในวิมานของตน
เป็นเทวดาแต่ได้มาสนทนากับพวกมนุษย์
(เสรีสกเทพบุตรถามพวกพ่อค้าด้วยคาถาว่า)
[606] มนุษย์ทั้งหลายผู้กลัวทางคดเคี้ยว
มีใจหวาดหวั่นอยู่ในที่น่าระแวงว่ามีภัย ในป่า ในถิ่นของอมนุษย์
ในทางกันดาร ซึ่งมีน้ำมีอาหารไม่เพียงพอ
เดินไปได้แสนยาก ท่ามกลางทะเลทราย
[607] ในทางทะเลทรายนี้ ไม่มีผลไม้ ไม่มีเผือกมัน ไม่มีเชื้อไฟ
ในทางทะเลทรายนี้ จักหาอาหารได้แต่ที่ไหน
นอกจากฝุ่นและทรายที่แดดแผดเผาทั้งร้อน ทั้งทารุณ
[608] ที่นี้เป็นที่ดอน ร้อนดังแผ่นเหล็กเผาไฟ
หาความสบายมิได้ เทียบเท่านรก
สถานที่นี้เป็นที่อยู่ดั้งเดิมของพวกหยาบช้ามีปีศาจเป็นต้น
เป็นภูมิประเทศเหมือนถูกสาปไว้
[609] อนึ่ง พวกท่านหวังอะไร
เพราะเหตุไรจึงไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน
ตามกันเข้ามายังประเทศถิ่นนี้พร้อมกัน
เพราะความโลภ ความกลัว หรือเพราะความหลง
(พวกพ่อค้าตอบว่า)
[610] พวกข้าพเจ้านั้นเป็นพ่อค้าเกวียนอยู่ในแคว้นมคธและแคว้นอังคะ
ต้องการทรัพย์ หวังกำไร
จึงบรรทุกสินค้ามามาก
พากันไปยังสินธุประเทศและโสวีระประเทศ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :266 }