เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[593] จงทรงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์โดยพลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ ไม่ตรัสเท็จ
และทรงยินดีเฉพาะพระมเหสีของพระองค์
อนึ่ง ขอจงทรงสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ 8
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
[594] ขอพระองค์จงทรงถวายจีวร บิณฑบาต
คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว
ผ้า และที่อยู่อาศัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลาย
บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ
[595] ทรงอังคาสภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ บุญจึงเจริญทุกเมื่อ
[596] ผู้ที่ประพฤติธรรมสม่ำเสมอโดยเคารพ
ไม่ประมาททั้งคืนทั้งวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น
และกรรมที่เว้นการให้ผลพึงมีได้
(พระราชาตรัสว่า)
[597] วันนี้แหละ โยมมีจิตเลื่อมใส ขอถึงพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
อนึ่ง ขอศึกษาสมาทานสิกขาบท 5 ประการ
ไม่ให้ขาดและไม่ให้บกพร่อง คือ
[598] ของดเว้นจากการฆ่าสัตว์พลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่กล่าวเท็จ
และยินดีเฉพาะภรรยาของตน
อนึ่ง ขอสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ 8
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :264 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 2. เสรีสกเปตวัตถุ
[599] โยมจะถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง
ข้าว น้ำ ของกินของเคี้ยว ผ้า และที่อยู่อาศัย
[600] โยมยินดีในพระพุทธศาสนา ไม่หวั่นไหว
จะถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
[601] เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีทรงเป็นอุบาสกคนหนึ่งในเมืองไพสาลี
ทรงมีศรัทธา และมีพระหฤทัยอ่อนโยนเช่นนั้น
ทรงทำอุปการะ บำรุงพระภิกษุสงฆ์โดยเคารพในกาลนั้น
[602] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ หายโรค
มีอิสระ สบายดี ได้บรรพชาแล้ว
แม้คนทั้งสองอาศัยกัปปิตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญญผล1
[603] การคบสัตบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากแก่สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่
บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบได้บรรลุอรหัตตผล
ส่วนเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีได้บรรลุโสตาปัตติผล
อัมพสักขรเปตวัตถุที่ 1 จบ

2. เสรีสกเปตวัตถุ
เรื่องเสรีสกเปรต
(พระควัมปติกล่าวว่า)
[604] ท่านทั้งหลายจงฟังคำของเทวดาและพวกพ่อค้า
ที่ได้มาพบกันในทางทะเลทรายในคราวนั้น
และขอเชิญทุกท่านฟังถ้อยคำตามที่เทวดา
และพวกพ่อค้ากล่าวสนทนากัน

เชิงอรรถ :
1 สามัญญผล แปลว่า ผลแห่งความเป็นสมณะ ความเป็นสมณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา
พระผู้มีพระภาคทรงพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การบวชได้ผลเห็นประจักษ์ (หมายถึงการบรรลุมรรค 4 ผล 4
นิพพาน 1 ไปตามลำดับ) (สุตฺต 9/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :265 }