เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[560] จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถามสมณะนั้น
ถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย ความอยู่สำราญ
แล้วได้ตรัสกับสมณะนั้นว่า
พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเป็นกษัตริย์ลิจฉวี ในเมืองไพสาลี
ชนทั้งหลายรู้จักโยมว่า เจ้าอัมพสักขรลิจฉวี
[561] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าจงรับผ้า 8 คู่นี้ของโยม
โยมถวายพระคุณเจ้า
โยมมาในที่นี้เพราะต้องการความสบายใจที่โยมจะพึงสบายใจ
(พระเถระทูลถามว่า)
[562] สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันละเว้นราชนิเวศน์
ของมหาบพิตรเสียห่างไกล
เพราะในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ บาตรก็แตก
และแม้ผ้าสังฆาฏิก็ยังถูกฉีกทำลาย
[563] ครั้นต่อมา สมณะอีกพวกหนึ่งถูกมัดเท้าจับห้อยหัวลง
สมณะทั้งหลายได้รับการเบียดเบียน
ที่มหาบพิตรทรงกระทำกับบรรพชิตเช่นนั้น
[564] มหาบพิตรไม่เคยพระราชทาน
แม้แต่น้ำมันสักหยดหนึ่งด้วยยอดหญ้า
ไม่ตรัสบอกทางให้คนหลงทาง
ชิงเอาไม้เท้าของคนตาบอดเสียเอง
เป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวมเช่นนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร
หรือเพราะทรงเห็นอะไร
มหาบพิตร จึงทรงจำแนกแจกจ่ายให้แก่อาตมาเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :258 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[565] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเบียดเบียนสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
โยมขอรับผิดตามที่ท่านพูด
แต่โยมมีความประสงค์จะล้อเล่น ไม่ได้คิดประทุษร้าย
กรรมชั่วแม้นั้นโยมกระทำแล้วจริง
[566] เด็กหนุ่มเปลือยกาย มีโภคะเพียงเล็กน้อย
ได้สร้างบาปกรรมด้วยการล้อเล่น จึงต้องเสวยทุกข์
ก็เปรตนั้นจะมีทุกข์อะไรเล่า
ที่เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความเปลือยกายนั้น
[567] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเห็นสิ่งอันน่าสังเวช
และผลอันเป็นมลทินนั้นแล้ว
จึงถวายทานแม้เพราะเหตุนั้นเป็นปัจจัย
นิมนต์พระคุณเจ้ารับผ้าทั้ง 8 คู่เถิด
ทักษิณา1 นี้จงสำเร็จแก่เปรต
(พระเถระถวายพระพรว่า)
[568] เพราะบัณฑิตทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น
สรรเสริญการให้ทานไว้โดยมากแท้
และเมื่อมหาบพิตรทรงถวายทาน ขอให้ทานอย่าหมดเปลืองไป
อาตมภาพรับผ้าของมหาบพิตรทั้ง 8 คู่
ขอทักษิณาทานเหล่านี้จงสำเร็จแก่เปรต
[569] ลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีนั้น ทรงบ้วนพระโอษฐ์
ทรงถวายผ้า 8 คู่แด่พระเถระ พระเถระรับผ้า 8 คู่นั้นแล้ว
และเจ้าลิจฉวีนั้นก็ทอดพระเนตรเห็นเปรตนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย

เชิงอรรถ :
1 ทานที่ให้โดยเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม,หรือไทยธรรมที่ถวายแก่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เพื่อประโยชน์
แก่เปตชน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :259 }