เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[550] สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตกได้
หมดทุกข์ หมดตัณหา
หลุดพ้นแล้ว ปราศจากกิเลสเป็นเหตุเสียบแทง
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่คด ไม่มีอุปธิ
หมดสิ้นกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า
ได้บรรลุวิชชา 3 มีความรุ่งเรือง
[551] ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ แม้ใคร ๆ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นปราชญ์
ในหมู่ชนชาววัชชี เขาพากันเรียกท่านว่า ปราชญ์
ส่วนพวกยักษ์และเทวดารู้จักท่านว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
มีกัลยาณธรรม เที่ยวไปในโลก
[552] ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่พระมุนีนั้น
ทรงอุทิศส่วนบุญให้ข้าพระองค์
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และพระองค์ก็จะทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[553] บัดนี้ สมณะนั้นอยู่ที่ไหน
เราไปแล้วจักพึงพบเห็นได้
และสมณะนั้น คือใคร จะพึงแก้ไขความสงสัยและความสนเท่ห์
ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นในวันนี้ได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[554] ท่านนั่งอยู่ที่กปินัจจนานั่น
มีเทวดาแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
เป็นผู้มีเกียรติคุณอันแท้จริง
และเป็นผู้ไม่ประมาทในคุณอันอัศจรรย์ของตน
กล่าวธรรมีกถา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :256 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[555] เราไปแล้วจักทำตามที่ท่านสั่งนั้นเดี๋ยวนี้
จักให้สมณะนุ่งห่มผ้าคู่หนึ่ง
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และเราจะพึงเห็นท่านผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[556] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี ขอประทานวโรกาส
ขอพระองค์อย่าได้เสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่สมควร
นั่นเป็นธรรมเนียมไม่เหมาะสำหรับพระองค์
และต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีตรัสว่า
เราจะเข้าไปพบบรรพชิตผู้นั่งอยู่ในที่ลับ ณ ที่นั้นในเวลาอันสมควร
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[557] ครั้นตรัสแล้วอย่างนี้ เจ้าลิจฉวีมีหมู่ข้าทาสบริพารแวดล้อม
เสด็จไปในพระนครนั้น
ครั้นเสด็จเข้าไปยังพระนครนั้นแล้ว
จึงเสด็จเข้าประทับอาศัยในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
[558] ต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีทรงกระทำกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
ทรงสรงสนาน และเสวยน้ำแล้ว
ได้เวลาอันสมควร จึงทรงเลือกผ้า 8 คู่จากหีบ
รับสั่งให้หมู่ข้าทาสบริพารถือไป
[559] พระองค์ ครั้นเสด็จเข้าไปยังสถานที่นั้นแล้ว
ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะนั้นมีจิตสงบระงับ
เดินกลับจากโคจรคาม เป็นผู้เยือกเย็น
นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :257 }