เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
[522] ยักษ์ เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไร
ท่านจึงพูดกับบุรุษผู้ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง
นอนหงายอยู่บนหลาวด้ามไม้สะเดาเช่นนี้ว่า
บุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด
การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นความประเสริฐ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[523] ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ระลึกได้ว่า ในชาติก่อน
บุรุษนี้เป็นญาติสายโลหิตของข้าพระองค์
ก็ข้าพระองค์เห็นแล้ว มีความกรุณาต่อเขาว่า
ขอบุรุษผู้เลวทรามนี้อย่าตกนรกเลย
[524] ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้ตายจากอัตภาพนี้แล้ว
จักบังเกิดในนรกซึ่งแน่นขนัดไปด้วยสัตว์ผู้กระทำความชั่วไว้
เป็นนรกร้ายกาจ
มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อน น่ากลัว
[525] หลาวนี้แหละยังดีกว่านรกนั้นมากมายหลายส่วน
ขอบุรุษนี้อย่าตกนรก ซึ่งมีแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว
เผ็ดร้อนอย่างน่ากลัว รุนแรงยิ่ง
[526] เพราะฟังคำของข้าพระองค์นี้แล้ว บุรุษนี้เป็นประหนึ่งว่า
น้อมจิตเข้าไปหาทุกข์ในนรก พึงละบาปเสียได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่พูดในที่ใกล้เขาด้วยหวังว่า
ชีวิตของบุรุษนี้จงอย่าดับไปเพราะข้าพระองค์แต่ผู้เดียว
(เมื่อเปรตแสดงความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงขอโอกาสเพื่อ
จะตรัสถามความเป็นไปของเปรตนั้นอีก จึงได้ตรัสคาถานี้ว่า)
[527] เรื่องของบุรุษนี้ เรารู้แล้ว
แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่นบ้าง
ถ้าท่านให้โอกาสแก่เรา
เราจะถาม และท่านไม่ควรโกรธเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :251 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [4. มหาวรรค] 1. อัมพสักขรเปตวัตถุ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[528] ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญญาไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว
จะไม่บอกแก่ผู้ที่ไม่เลื่อมใส
(แต่บัดนี้)ข้าพระองค์ไม่ประสงค์(จะบอก)
(แต่)มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ เพราะเหตุดังว่ามานี้
ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ตามพระประสงค์
ข้าพระองค์จะทูลตอบเท่าที่จะทูลตอบได้
(เมื่อเปรตให้โอกาสเช่นนั้นแล้ว เจ้าอัมพสักขระลิจฉวีจึงตรัสถามว่า)
[529] เราจะเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นด้วยตา
ถ้าแม้นเราเห็นสิ่งนั้นแล้วไม่เชื่อ
ก็ขอให้ลงโทษถอดยศเราเถิด ยักษ์
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[530] นี้ขอจงเป็นสัจปฏิญญาของพระองค์ต่อข้าพระองค์
พระองค์ได้ทรงฟังธรรมแล้ว จงทรงได้ความเลื่อมใสดีงาม
ข้าพระองค์ต้องการทราบ มิได้มีจิตคิดประทุษร้าย
จักขอกราบทูลถวายทุกเรื่องที่พระองค์ได้สดับแล้วบ้าง
หรือไม่ได้สดับแล้วบ้าง แด่พระองค์ เท่าที่รู้มา
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[531] ท่านขี่ม้าขาวประดับประดาแล้ว
เข้าไปใกล้บุรุษที่ถูกเสียบด้วยหลาว
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[532] ที่ท่ามกลางเมืองไพสาลีนั้น
มีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส
จึงใส่หัวโคหัวหนึ่งลงไปในหลุมใช้เป็นสะพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :252 }