เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 16. สิริมาวิมาน
[137] ม้าสำหรับเทียมรถของเธอ ตกแต่งด้วยเครื่องประดับชั้นดีเยี่ยม
มีพลัง แคล่วคล่องว่องไว เหาะทะยานลงไป
รถเทียมม้า 500 คัน ที่บุญกุศลเนรมิตเพื่อเธอ
และม้าเหล่านั้นเหมือนถูกนายสารถีกระตุ้นเตือน
ย่อมแล่นตามเธอไป
[138] เธอประดับองค์ สถิตบนรถอันเลอเลิศ
เปล่งรัศมีสว่างรุ่งเรืองอยู่ประดุจดวงไฟอันโชติช่วง
เทพธิดาผู้มีรูปงาม น่าชม มองแล้วไม่เบื่อ อาตมาขอถามว่า
“เธอมาจากเทพหมู่ไหนหนอจึงเข้ามาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งหาใครเลิศยิ่งกว่าไม่ได้แล้ว
(สิริมาเทพธิดานั้นตอบพระเถระว่า)
[139] ถัดลงมาจากหมู่ปรนิมมิตวสวัตดีเทพ1ผู้ถึงความเป็นเลิศ
ด้วยกามคุณ ที่บัณฑิตกล่าวชมว่ายอดเยี่ยมนั้น
มีนิมมานรดีเทพซึ่งเนรมิตสมบัติได้เองแล้วชื่นชมอยู่
ดิฉันเป็นนางอัปสรจากหมู่นิมมานรดีเทพนั้น ซึ่งมีรูปร่างน่าพึงใจ
ประสงค์จะนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งหาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ จึงมาสู่มนุษยโลกนี้
(พระเถระถามว่า)
[140] ชาติก่อนแต่จะมาเป็นเทพธิดานี้
เธอได้ประพฤติสุจริตกรรมอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีบริวารยศอยู่มากมาย เปี่ยมไปด้วยความสุข
อนึ่ง เธอมีฤทธิ์ที่หาฤทธิ์ใดเทียมเท่ามิได้
เหาะไปในอากาศได้ ทั้งมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วสิบทิศ

เชิงอรรถ :
1 เป็นชื่อของหมู่เทพในสวรรค์ชั้นที่ 6 (สวรรค์มี 6 ชั้น คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี
ปรนิมมิตวสวัตดี) เมื่อต้องการอะไรจะให้เทพชั้นที่ 5 นิรมิตให้ (ขุ.วิ.อ. 139/87)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :24 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 16. สิริมาวิมาน
[141] เทพธิดา อนึ่ง เธอมีมวลเทพห้อมล้อม สักการะ
เธอจุติมาจากคติ1ไหนจึงมาถึงสุคติภพนี้
หรือว่าเธอได้ทำตามคำสอนของพระศาสดาพระองค์ไหน
หากเธอเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้าจริง ขอจงบอกอาตมาเถิด
(สิริมาเทพธิดาตอบว่า)
[142] ดิฉันเป็นพระสนมของพระราชาผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ2
มีพระสิริ อยู่ในพระนครซึ่งสถาปนาไว้เป็นอย่างดีท่ามกลางขุนเขา
มีความชำนาญอย่างยิ่งในการฟ้อนรำ ขับร้อง
ชาวเมืองราชคฤห์ได้พากันเรียกขานดิฉันว่า สิริมา
[143] พระพุทธเจ้าทรงองอาจกว่าหมู่ผู้เป็นฤษี ทรงแนะนำเวไนยสัตว์
ได้ทรงแสดงทุกขสัจและสมุทัยสัจว่าเป็นสภาวะที่ไม่เที่ยง
ทรงแสดงทุกขนิโรธสัจซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่งว่าเป็นสภาวะคงที่
และทรงแสดงมรรคสัจนี้ซึ่งเป็นทางไม่อ้อมค้อม
เป็นทางตรง และเป็นทางปลอดโปร่งแก่ดิฉัน
[144] ดิฉันครั้นฟังธรรมอันเป็นทางไม่ตาย ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
เป็นคำสอนของพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้
สำรวมในศีลทั้งหลายอย่างเคร่งครัดเป็นอันดี
มั่นอยู่ในธรรมที่พระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่านรชนทรงแสดงไว้แล้ว
[145] ครั้นรู้ทางที่ปราศจากกิเลสประดุจธุลีซึ่งปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง
อันพระตถาคตเจ้าผู้หาใครเลิศยิ่งกว่ามิได้ทรงแสดงไว้แล้ว
ได้สัมผัสสมถสมาธิ3 ในอัตภาพนั้นเอง
การได้สัมผัสสมถสมาธินั้นแหละ
เป็นภาวะแน่นอนอย่างยิ่งสำหรับดิฉัน

เชิงอรรถ :
1 คติ (ภพที่สัตว์ไปเกิด) 5 คือ นรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรต มนุษย์ และสวรรค์
2 พระเจ้าพิมพิสาร ผู้ครองกรุงราชคฤห์ (ขุ.วิ.อ. 142/90)
3 สมถสมาธิ คือ โลกุตตรสมาธิที่ตัดกิเลสได้เด็ดขาด (ขุ.วิ.อ. 145/92)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :25 }