เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [3. จูฬวรรค] 5. กุมารเปตวัตถุ
[452] อนึ่งกรรมทั้งหลายไม่ไร้ผล
เพราะกรรมย่อมไม่สูญหาย
ฉะนั้น ดิฉันจึงต้องทั้งกินทั้งดื่มคูถ
ซึ่งมีกลิ่นเหม็น มีหนอน
ภุสเปตวัตถุที่ 4 จบ

5. กุมารเปตวัตถุ
เรื่องกุมารเปรต
(เมื่อจะประกาศเรื่องของกุมารเปรตนั้น พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าว 7 คาถาว่า)
[453] พระญาณของพระสุคต น่าอัศจรรย์
โดยที่พระศาสดาทรงพยากรณ์บุคคลได้อย่างถูกต้องว่า
บุคคลบางเหล่าในโลกนี้ มีบุญมากก็มี
บางเหล่ามีบุญน้อยก็มี
[454] คหบดีผู้นี้เมื่อยังเป็นเด็ก ถูกเขาทิ้งไว้ในป่าช้า
เป็นอยู่ด้วยน้ำนมที่ไหลออกจากนิ้วมือตลอดราตรี
ยักษ์และภูตผีปีศาจ หรือสัตว์เลื้อยคลาน
ก็ไม่เบียดเบียนเด็กผู้ที่ได้ทำบุญไว้แล้ว
[455] แม้สุนัขทั้งหลายก็พากันมาเลียเท้าทั้งสองของเด็กนั้น
ฝูงเหยี่ยวและสุนัขจิ้งจอกก็พากันวนเวียนรักษา
ฝูงนกก็พากันคาบรกไปทิ้ง
ส่วนฝูงกาพากันคาบขี้ตาออกไป
[456] มนุษย์และอมนุษย์ไร ๆ มิได้จัดการรักษาเด็กนี้
หรือใครๆ ที่จะปรุงยาหรือทำการบำบัดด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาดมิได้มี
และมิได้ถือเอาการประกอบฤกษ์ยาม
ทั้งไม่ได้โปรยธัญชาติทั้งปวง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :239 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [3. จูฬวรรค] 5. กุมารเปตวัตถุ
[457] เด็กที่บุคคลนำมาทิ้งไว้ในป่าช้าในยามราตรี
ได้รับความลำบากอย่างยิ่งเช่นนี้
สั่นเทาอยู่ เป็นดุจก้อนเนยข้น
ยังเหลืออยู่เพียงชีวิต มีความสงสัยว่า (ตัวจะรอดหรือไม่รอดหนอ)
[458] พระผู้มีพระภาคผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว
ทรงมีพระปัญญากว้างขวาง ได้ทอดพระเนตรเห็นแล้ว
ครั้นแล้วได้ทรงพยากรณ์เด็กนั้นว่า
เด็กคนนี้จักเป็นผู้มีสกุลสูง1 สำหรับนครนี้
(อุบาสกซึ่งอยู่ในที่ใกล้พระศาสดาทูลถามว่า)
[459] ข้อปฏิบัติของเขาเป็นอย่างไร พรหมจรรย์ของเขาเป็นอย่างไร
เขาประพฤติข้อปฏิบัติและพรหมจรรย์อย่างไร จึงมีวิบากอย่างนี้
เขาถึงความพินาศเช่นนี้แล้วจึงกลับมาเสวยความสำเร็จเช่นนั้น ๆ
(พระสังคีติกาจารย์เมื่อจะแสดงคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาค จึงกล่าว
4 คาถาว่า)
[460] เมื่อก่อน หมู่ชนได้ทำการบูชาพระสงฆ์
ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานอย่างโอฬาร
เด็กนั้นได้มีความคิดเห็นในการบูชานั้นเป็นอย่างอื่นไป
เขาได้กล่าววาจาหยาบคาย ซึ่งมิใช่ของสัตบุรุษ
[461] ภายหลังเขาบรรเทาความคิดนั้นแล้ว
กลับได้ปีติและความเลื่อมใส ได้บำรุงพระตถาคต
ซึ่งประทับอยู่ที่พระเชตวัน ด้วยข้าวต้ม 7 วัน
[462] ข้อนั้นเป็นข้อปฏิบัติและพรหมจรรย์ของเขา
เขาประพฤติเช่นนั้น จึงมีวิบากอย่างนี้
เขาถึงความพินาศเช่นนี้แล้วจักกลับได้เสวยความสำเร็จเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
1 จักได้เป็นเศรษฐีมีโภคสมบัติมาก (ขุ.เป.อ. 458/209)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :240 }