เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 9. อังกุรเปตวัตถุ
[294] ใครต้องการร่มจงมาเอาร่มไป
ใครต้องการของหอมจงมาเอาของหอมไป
ใครต้องการดอกไม้จงมาเอาดอกไม้ไป
ใครต้องการรองเท้าจงมาเอารองเท้าไป
[295] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เพราะไม่เห็นเหล่าชนผู้ขอ เราจึงนอนเป็นทุกข์
[296] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เมื่อวณิพกมีน้อย เราจึงนอนเป็นทุกข์
(สินธุมาณพได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า)
[297] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์
และเป็นใหญ่กว่าชาวโลกทั้งปวง พึงประทานพรแก่ท่าน
เมื่อท่านจะเลือก ท่านจะเลือกขอพรเช่นไร
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[298] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงประทานพรแก่เรา
เราจะพึงขอพรว่า เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
ภักษาหารอันเป็นทิพย์และเหล่าชนผู้ขอซึ่งมีศีลพึงปรากฏขึ้น
[299] เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป
ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง
เมื่อกำลังให้ พึงยังจิตให้เลื่อมใส
ข้าพเจ้าพึงเลือกขอพรอย่างนี้กับท้าวสักกะ
(โสนกบุรุษกล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า)
[300] บุคคลไม่ควรให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น
ควรให้ทานและควรรักษาทรัพย์ไว้
เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
เพราะการให้ทานเกินประมาณ สกุลทั้งหลายจะล่มจม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :215 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 9. อังกุรเปตวัตถุ
[301] บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่สรรเสริญการไม่ให้ทานและการให้เกินควร
เพราะเหตุนั้นแหละ ทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
ประเพณีแห่งการให้ทานและการไม่ให้
เป็นธรรมเนียมของบุคคลผู้เป็นนักปราชญ์ พึงเป็นไปโดยพอเหมาะ
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[302] ชาวเราทั้งหลาย ดีหนอ เราพึงให้ทานแน่แท้
ด้วยว่าสัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบระงับพึงคบหาเรา
เราพึงทำความประสงค์ของวณิพกทั้งปวงให้เต็ม เลี้ยงดูให้อิ่มหนำ
เปรียบเหมือนฝนตกทำที่ลุ่มทั้งหลายให้เต็ม
[303] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
ข้อนั้นเป็นความสุขของบุคคลผู้อยู่ครองเรือน
[304] บุคคลผู้มีสีหน้าผ่องใส เพราะเห็นเหล่าชนผู้ขอ
ครั้นให้ทานแล้วมีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ(บุญ)
[305] ก่อนแต่ให้ก็มีใจดี
เมื่อกำลังให้ก็ทำจิตให้เลื่อมใส
ครั้นให้แล้วก็มีใจเบิกบาน
นี้เป็นความถึงพร้อมแห่งยัญ
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวเป็นคาถาว่า)
[306] ในเรือนของอังกุรพาณิชผู้มุ่งบุญ
เขาให้โภชนะแก่หมู่ชนวันละ 60,000 เล่มเกวียนเป็นนิตย์
[307] พ่อครัว 3,000 คนประดับด้วยต่างหูแก้วมณี
เป็นผู้ขวนขวายในการให้ทาน
พากันเข้าไปอาศัยอังกุรพาณิชเลี้ยงชีพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :216 }