เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 9. อังกุรเปตวัตถุ
[286] เพราะกรรมนั้น นิ้วของเราจึงหงิกงอ
หน้าของเราจึงบิดเบี้ยว และนัยน์ตาทั้งสองของเราจึงเขรอะ
เราได้ทำบาปนั้นไว้
(อังกุรพาณิชถามว่า)
[287] แน่ะบุรุษเลวทราม สมควรแล้วที่ท่านมีหน้าบิดเบี้ยว
นัยน์ตาทั้งสองจึงเขรอะ เพราะท่านได้ทำหน้างอต่อทานของผู้อื่น
[288] ทำไม อสัยหเศรษฐีเมื่อจะให้ทาน
จึงได้มอบข้าว น้ำ ของเคี้ยว ผ้า
และที่อยู่อาศัยให้ผู้อื่นจัดแจง
[289] เราจากที่นี้ไปถึงเมืองทวาราวดี
จักรีบบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้แก่เราแน่นอน
[290] จักให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ
และสะพานในที่ที่เดินลำบากเป็นทาน
[291] อังกุรพาณิชนั้นกลับจากทะเลทรายนั้น
ไปถึงเมืองทวาราวดีแล้ว
เริ่มบำเพ็ญทานซึ่งจะนำความสุขมาให้ตน
[292] ได้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ที่อยู่อาศัย บ่อน้ำ สระน้ำ
ด้วยจิตอันเลื่อมใสแล้ว
[293] ช่างกัลบก พ่อครัวชาวมคธพากันป่าวร้องในเรือน
ของอังกุรพาณิชนั้นทั้งในเวลาเย็นทั้งในเวลาเช้าทุกวันว่า
ใครหิวจงมารับประทานตามชอบใจ
ใครกระหายจงมาดื่มตามชอบใจ
ใครจักนุ่งห่มผ้าจงมานุ่งห่มตามชอบใจ
ใครต้องการพาหนะเทียมรถจงเลือกพาหนะที่ชอบใจ
จากหมู่พาหนะเทียมรถนี้แล้วเทียมเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :214 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 9. อังกุรเปตวัตถุ
[294] ใครต้องการร่มจงมาเอาร่มไป
ใครต้องการของหอมจงมาเอาของหอมไป
ใครต้องการดอกไม้จงมาเอาดอกไม้ไป
ใครต้องการรองเท้าจงมาเอารองเท้าไป
[295] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เพราะไม่เห็นเหล่าชนผู้ขอ เราจึงนอนเป็นทุกข์
[296] ชนย่อมยกย่องเราว่า อังกุรพาณิชนอนเป็นสุข
สินธุมาณพเอ๋ย เมื่อวณิพกมีน้อย เราจึงนอนเป็นทุกข์
(สินธุมาณพได้ฟังดังนั้นจึงกล่าวว่า)
[297] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์
และเป็นใหญ่กว่าชาวโลกทั้งปวง พึงประทานพรแก่ท่าน
เมื่อท่านจะเลือก ท่านจะเลือกขอพรเช่นไร
(อังกุรพาณิชกล่าวว่า)
[298] ถ้าท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าชาวดาวดึงส์ พึงประทานพรแก่เรา
เราจะพึงขอพรว่า เมื่อเราลุกขึ้นแต่เช้า ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น
ภักษาหารอันเป็นทิพย์และเหล่าชนผู้ขอซึ่งมีศีลพึงปรากฏขึ้น
[299] เมื่อเราให้อยู่ ไทยธรรมไม่พึงสิ้นไป
ครั้นเราให้ทานนั้นแล้ว ไม่พึงเดือดร้อนในภายหลัง
เมื่อกำลังให้ พึงยังจิตให้เลื่อมใส
ข้าพเจ้าพึงเลือกขอพรอย่างนี้กับท้าวสักกะ
(โสนกบุรุษกล่าวเตือนอังกุรพาณิชว่า)
[300] บุคคลไม่ควรให้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจทั้งหมดแก่บุคคลอื่น
ควรให้ทานและควรรักษาทรัพย์ไว้
เพราะว่าทรัพย์เท่านั้นประเสริฐกว่าทาน
เพราะการให้ทานเกินประมาณ สกุลทั้งหลายจะล่มจม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :215 }