เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 15. อุตตราวิมาน
[121] ได้เห็นภิกษุผู้ปราศจากกิเลสประดุจธุลี
มีใจผ่องใส ไม่มัวหมอง
เลื่อมใสแล้ว ได้ถวายขนมกุมมาส1 ก้อนหนึ่ง
แด่ท่านด้วยมือทั้งสองของตน ครั้นถวายแล้ว
ดิฉันจึงมาบันเทิงใจอยู่ในสวนนันทวัน
[122] เพราะบุญนั้นผิวพรรณดิฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ดิฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ดิฉัน
[123] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยสุณิสาวิมานที่ 14 จบ

15. อุตตราวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่นางอุตตรา
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[124] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอยู่ ดุจดาวประกายพรึก
[125] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ

เชิงอรรถ :
1 ขนมสดที่ทำจากถั่วผสมข้าวเหนียว (ขุ.วิ.อ. 121/68)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :21 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 15. อุตตราวิมาน
[126] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก อาตมาขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[127] เทพธิดานั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมตามที่พระเถระถามว่า
[128] เมื่อดิฉันยังครองเรือนอยู่
มิได้มีความริษยา ความตระหนี่ ความตีเสมอ
ดิฉันมีนิสัยไม่มักโกรธ ประพฤติตามคำสั่งสามี
และไม่ประมาทในการรักษาศีลอุโบสถเป็นนิตย์
[129] ดิฉันเข้าจำอุโบสถศีลซึ่งประกอบด้วยองค์ 8
ทุกวัน 14 ค่ำ1 15 ค่ำและ 8 ค่ำแห่งปักษ์
และตลอดปาฏิหาริยปักษ์2
[130] ดิฉันสำรวมระวังในศีลตลอดเวลา
และแจกจ่ายทานด้วยความเคารพ จึงได้ครอบครองวิมานนี้
[131] ดิฉันงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักขโมย
จากการประพฤตินอกใจสามี สำรวมระวังจากการพูดเท็จ
และเว้นไกลการดื่มน้ำเมา
[132] ดิฉันยินดีในศีล 5 ฉลาดในอริยสัจ
เป็นอุบาสิกาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าโคดม
ผู้มีพระจักษุ มีพระยศ

เชิงอรรถ :
1 คือ วันแรม 14 ค่ำในเดือนขาด
2 คือ วันรับ วันขึ้น 7 ค่ำ 14 ค่ำ วันแรม 7 ค่ำ 13 ค่ำ 14 ค่ำ วันส่ง คือ วันขึ้น-แรม 9 ค่ำ
1 ค่ำ เช่นเดียวกันทั้งหมด (ขุ.วิ.อ. 129/78) อีกนัยหนึ่ง ปาฏิหาริยปักษ์ หมายถึง อุโบสถที่รักษา
ประจำตลอด 3 เดือน ภายในพรรษา ถ้าไม่อาจรักษา 3 เดือนได้ ก็ให้รักษา 1 เดือน ในระหว่าง
วันปวารณาทั้งสอง (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) หรือถ้าไม่อาจรักษาได้ 1
เดือน ก็รักษาตลอดครึ่งเดือน คือ ตั้งแต่วันปวารณาต้น (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ถึง แรม 14 ค่ำ
เดือน 11) (องฺ.ติก.อ. 2/38/139)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :22 }