เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 7. ธนปาลเสฏฐิเปตวัตถุ
[237] ความหวงแหนทรัพย์เป็นความพินาศ
ความพินาศก็คือความหวงแหนทรัพย์
ได้ยินว่า เปรตทั้งหลายก็รู้ว่าความหวงแหนทรัพย์เป็นความพินาศ
[238] เมื่อชาติก่อน ข้าพเจ้าหวงแหนทรัพย์
เมื่อทรัพย์มีอยู่เป็นจำนวนมากก็ไม่ได้ให้ทาน
เมื่อไทยธรรมมีอยู่ก็ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน
ข้าพเจ้านั้นได้รับผลกรรมของตน จึงเดือดร้อนในภายหลัง
[239] พ้นจาก 4 เดือนไปแล้ว ข้าพเจ้าจักตาย
จักตกนรกอันเร่าร้อนแสนสาหัส
[240] นรกนั้นมี 4 เหลี่ยม มีประตู 4 ด้าน
กรรมสร้างจำแนกไว้เป็นส่วน ๆ
ล้อมรอบด้วยกำแพงเหล็ก ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก
[241] พื้นนรกนั้นล้วนเป็นเหล็กแดงลุกเป็นเปลวเพลิง
ประกอบด้วยความร้อน แผ่ไปรอบตลอดร้อยโยชน์อยู่ตลอดกาล
[242] ข้าพเจ้าจักต้องเสวยทุกขเวทนาในมหานรกนั้นยาวนาน
ด้วยว่าการเสวยทุกข์เช่นนี้เป็นผลกรรมชั่ว
เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเศร้าโศกอย่างหนัก
[243] ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าขอเตือนท่านทั้งหลาย
ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้มาประชุมกันในที่นี้
พวกท่านอย่าได้ทำกรรมชั่วทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
[244] ถ้าพวกท่านจักทำกรรมชั่วนั้นหรือกำลังทำอยู่
แม้พวกท่านจะเหาะหนีไปก็ไม่พ้นจากทุกข์ได้
[245] ขอท่านทั้งหลายจงเกื้อกูลมารดา จงเกื้อกูลบิดา
ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในสกุล
เป็นผู้เกื้อกูลสมณะ เกื้อกูลพราหมณ์
ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ท่านทั้งหลายจักไปสู่สวรรค์
ธนปาลกเสฏฐิเปตวัตถุที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :206 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ [2. อุพพริวรรค] 8. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
8. จูฬเสฏฐิเปตวัตถุ
เรื่องจูฬเศรษฐีเปรต
(พระเจ้าอชาตศัตรูตรัสถามเปรตนั้นว่า)
[246] ท่านผู้เจริญท่านเป็นนักบวชเปลือยกายซูบผอม
เพราะผลกรรมอะไร ท่านจึงไปที่ไหน ๆ เฉพาะกลางคืน
ขอท่านจงบอกเหตุที่มาแก่ข้าพเจ้าเถิด
บางทีข้าพเจ้าอาจมอบทรัพย์เครื่องปลื้มใจจากโภคะทั้งปวงให้แก่ท่าน
(เปรตนั้นตอบว่า)
[247] (เมื่อชาติก่อน) พระนครพาราณสีมีกิตติคุณเลื่องลือไปไกล
ข้าพระองค์เป็นคหบดีผู้มั่งคั่งอยู่ในพระนครนั้น
แต่เป็นคนมีจิตทราม ไม่เคยให้สิ่งของแก่ใคร
มีใจข้องอยู่ในอามิส ได้ตกไปถึงวิสัยแห่งพญายมเพราะเป็นผู้ทุศีล
[248] เพราะบาปกรรมเหล่านั้น
ข้าพระองค์นั้นจึงลำบากเนื่องจากถูกความหิวเสียดแทง
เพราะความทุกข์อันเกิดแต่ความหิวนั้นแหละ
ข้าพระองค์ปรารถนาอามิส จึงได้มาหาหมู่ญาติ
มนุษย์แม้เหล่าอื่นมีปกติไม่ให้ทาน
และไม่เชื่อว่าผลแห่งทานมีอยู่ในปรโลก
[249] ธิดาของข้าพระองค์พูดอยู่เสมอว่า
เราจักให้ทานอุทิศบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย
พวกพราหมณ์บริโภค ทานที่นางจัดแจงแล้ว
ข้าพระองค์จะไปยังเมืองอันธกวินทะเพื่อบริโภคอาหาร
[250] พระราชาจึงตรัสสั่งกับเขาว่า ถ้าท่านไปได้เสวยผลทานแม้นั้น
พึงรีบกลับมาบอกเหตุที่มีจริงแก่เรา
เราฟังคำมีเหตุผลอันควรเชื่อถือได้แล้ว จักทำสักการบูชาบ้าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :207 }