เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [2. ปุริสวิมาน] 5. มหารถวรรค 14. มหารถวิมาน
[1030] เทพอัปสรเหล่านั้นประดับพวงมาลัย
และทับทรวงด้วยดอกปทุมและดอกอุบล
ทรงเครื่องประดับ อบด้วยแก่นจันทน์
ถึงพวกนางก็มีกิริยาแช่มช้อย
มีใจชื่นชมต่อท่าน ยืนประนมมือเด่นอยู่บนรถ
[1031] บางพวกสว่างไสวไปทั่วทั้งสิบทิศด้วยเครื่องประดับคอ มือ เท้า
และศีรษะ เหมือนพระอาทิตย์ในสารทกาลกำลังอุทัย
[1032] ดอกไม้และเครื่องประดับที่แขนทั้งสองต้องลมก็ไหวพริ้ว
เปล่งเสียงกังวานไพเราะจับใจ อันวิญญูชนทุกคนควรฟัง
[1033] ท่านผู้เป็นจอมเทพ เสียงรถ ช้าง ม้า และดนตรีทั้งหลาย
ซึ่งอยู่สองข้างพื้นอุทยานทำให้ท่านบันเทิงใจ
ดุจพิณทั้งหลายมีรางและคันถือที่ประกอบไว้เรียบร้อยแล้ว
[1034] เมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้
ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่
เหล่านางอัปสรเทพกัญญา ผู้ล้วนชำนาญศิลป์
ต่างพากันร่ายรำอยู่บนดอกปทุมทั้งหลาย
[1035] ในเวลาที่มีการขับร้อง การประโคม และการฟ้อนเหล่านี้
ประสานกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน
เทพอัปสรพวกหนึ่งฟ้อนรำอยู่บนรถของท่านนี้
อีกพวกหนึ่งทางด้านนี้เปล่งรัศมีสว่างไสวทั้งสองด้าน
[1036] ท่านนั้นผู้อันหมู่เทพดุริยางค์ปลุกเร้าให้เกิดปีติโสมนัส
อันทวยเทพทั้งหลายบูชาอยู่
บันเทิงใจอยู่ ดังพระอินทร์ผู้ทรงวชิราวุธ
ในเมื่อพิณมีเสียงไพเราะจับใจจำนวนมากเหล่านี้
ที่เทพอัปสรทั้งหลายบรรเลงอย่างซาบซึ้งตรึงใจยิ่งอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :128 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [2. ปุริสวิมาน] 5. มหารถวรรค 14. มหารถวิมาน
[1037] เมื่อชาติก่อน ท่านเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำกรรมอะไรไว้
ท่านได้รักษาอุโบสถหรือว่า
ได้ชอบใจการประพฤติธรรมและการสมาทานวัตรอะไร
[1038] การที่ท่านมีอิทธานุภาพไพบูลย์รุ่งโรจน์ยิ่งกว่าหมู่เทพนี้
มิใช่ผลกรรมเล็กน้อยที่ท่านทำไว้แล้ว
หรืออุโบสถที่ท่านประพฤติแล้วในชาติก่อน
[1039] นี้เป็นผลของทาน หรือศีล หรือการกราบไหว้ของท่าน
อาตมาถามท่านแล้ว โปรดบอกผลกรรมนั้นแก่อาตมาเถิด
[1040] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[1041] ข้าพเจ้าได้เห็นพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงชนะอินทรีย์แล้ว
มีความเพียรไม่ย่อหย่อน ผู้สูงสุดแห่งนระทั้งหลาย เป็นอัครบุคคล
เปิดประตูอมตนิพพาน เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ ซึ่งมีบุญลักษณะนับร้อย
[1042] ครั้นได้เห็นพระองค์ผู้ข้ามโอฆะได้แล้วเช่นกับกุญชร
มีพระวรกายงดงามเช่นกับทองสิงคี1และทองชมพูนุท2
พลันข้าพเจ้าก็มีใจหมดจดเพราะได้เห็นพระองค์
ผู้มีธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นธงนั่นเอง
[1043] ข้าพเจ้านั้นมีใจไม่ติดข้องในอะไร ได้มอบถวายข้าวน้ำ
จีวร และของที่สะอาด ประณีต มีรสชาติ
เฉพาะพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ในที่อยู่ของตนซึ่งดารดาษด้วยดอกไม้
[1044] ได้อังคาสพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นซึ่งทรงเป็นผู้สูงสุด
กว่าเหล่ามนุษย์ ให้อิ่มหนำด้วยข้าว น้ำ จีวร ของเคี้ยว
ของฉัน และของลิ้ม จึงรื่นรมย์อยู่ในสวรรค์อันเป็นเทวบุรี

เชิงอรรถ :
1 ทองเนื้อสุก (ขุ.วิ.อ. 1042/329)
2 ทองวิเศษ (ขุ.วิ.อ. 1042/329)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :129 }