เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 8. ตติยนาวาวิมาน
[64] วิมานเรือนยอดของเธอ
จัดแบ่งไว้แต่ละส่วนอย่างเหมาะสม
ส่องสว่างรุ่งเรืองรอบทั้ง 4 ทิศ
[65] เพราะบุญอะไรผิวพรรณเธอจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่เธอในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่เธอ
[66] เทพธิดาผู้มีอานุภาพมาก ตถาคตขอถามว่า
เมื่อเธอเกิดเป็นมนุษย์ได้ทำบุญอะไรไว้
เพราะบุญอะไรเธอจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
[67] เทพธิดานั้นดีใจที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถาม
จึงทูลตอบปัญหาผลกรรม
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
[68] ชาติก่อนหม่อมฉันเกิดเป็นมนุษย์
อยู่ในหมู่มนุษย์ในมนุษยโลก
ได้เห็นภิกษุหลายรูปผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำ
จึงขมีขมันถวายน้ำให้ท่านดื่ม
[69] ผู้ใดแล ขมีขมันถวายน้ำให้ภิกษุหลายรูป
ผู้เหน็ดเหนื่อยกระหายน้ำได้ดื่ม
แม่น้ำหลายสายมีกระแสน้ำใสเย็น มากไปด้วยสวนไม้ดอก
มีบัวขาวอยู่มากมายย่อมเกิดแก่ผู้นั้น
[70] วิมานนั้นมีแม่น้ำหลายสายไหลล้อมรอบอยู่ประจำ
สายน้ำมีทรายมูล มีกระแสน้ำใสเย็น
มีหมู่ไม้มะม่วง ไม้สาละ ไม้หมากหอม ไม้หว้า
ไม้ราชพฤกษ์และหมู่ไม้แคฝอย ผลิดอกออกผลสะพรั่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :12 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 1. ปีฐวรรค 9. ปทีปวิมาน
[71] วิมานอันเลอเลิศ มีภูมิภาคเช่นนั้น
เป็นส่วนประกอบงดงามเหลือเกิน
นี้เป็นผลของกรรมนั้นนั่นเอง
ผู้ทำบุญไว้แล้วย่อมได้วิมานเช่นนี้
[72] วิมานที่อยู่ของหม่อมฉันมีเรือนยอด
จัดแบ่งไว้แต่ละส่วนอย่างเหมาะสม
ส่องสว่างรุ่งเรืองรอบทั้ง 4 ทิศ
[73] เพราะบุญนั้นผิวพรรณหม่อมฉันจึงงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่หม่อมฉันในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่หม่อมฉัน
[74] ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงอานุภาพมาก หม่อมฉันขอกราบทูลว่า
เพราะบุญที่ได้ทำไว้สมัยเมื่อเกิดเป็นมนุษย์
หม่อมฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
นี้เป็นผลของกรรมที่พระพุทธองค์ทรงเสวยน้ำ
ที่หม่อมฉันขมีขมันถวายนั้น
ตติยนาวาวิมานที่ 8 จบ

9. ปทีปวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงผู้ถวายประทีป
(พระมหาโมคคัลลานเถระถามว่า)
[75] เทพธิดา เธอมีผิวพรรณงามยิ่งนัก
เปล่งรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศสถิตอยู่ ดุจดาวประกายพรึก1

เชิงอรรถ :
1 ดาวที่มีรัศมีมากกว่าดาวดวงอื่น (ขุ.วิ.อ. 75/55) ปัจจุบันเรียกว่า ดาวรุ่ง คือ ดาวพระศุกร์ที่เห็นในเวลา
เช้ามืด ถ้าเห็นในเวลาหัวค่ำ เรียกดาวประจำเมือง (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525
หน้า 500)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :13 }