เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [2. ปุริสวิมาน] 5. มหารถวรรค 12. ตติยนาควิมาน
[971] เทพบุตรนั้นดีใจที่พระมหาโมคคัลลานเถระถาม
จึงตอบปัญหาผลกรรมไปตามที่พระเถระถามว่า
[972] เมื่อข้าพเจ้าเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในหมู่มนุษย์
เป็นอุบาสกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระจักษุ
ได้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ งดเว้นจากลักทรัพย์ในโลก
[973] ยินดีเฉพาะภรรยาของตน ไม่กล่าวเท็จ และไม่ดื่มน้ำเมา
มีจิตเลื่อมใส ได้ถวายข้าวและน้ำเป็นทานอย่างไพบูลย์โดยเคารพ
[974] เพราะบุญนั้นข้าพเจ้าจึงมีผิวพรรณงามเช่นนี้
ผลอันพึงปรารถนาจึงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าในวิมานนี้
และโภคะทั้งมวลล้วนน่าพอใจจึงเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้า
[975] ข้าแต่ภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า
เพราะบุญที่ทำได้ไว้เมื่อเกิดเป็นมนุษย์
ข้าพเจ้าจึงมีอานุภาพรุ่งเรือง
และมีรัศมีกายสว่างไสวไปทั่วทุกทิศอย่างนี้
ทุติยนาควิมานที่ 11 จบ

12. ตติยนาควิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีช้างทิพย์เป็นพาหนะ เรื่องที่ 3
(บุรุษผู้เป็นบัณฑิตถามเทพบุตรตนหนึ่งว่า)
[976] ใครหนอ มีช้างเผือกปลอดเป็นยานทิพย์
มีเสียงดนตรีประโคมกึกก้อง
มีบริวารเป็นอันมากบูชาอยู่ในอากาศ
[977] ท่านเป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกปุรินททะ
พวกเราไม่รู้จัก จึงขอถามท่าน
พวกเราจะรู้จักท่านได้อย่างไร

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :119 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [2. ปุริสวิมาน] 5. มหารถวรรค 13. จูฬรถวิมาน
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[978] ข้าพเจ้าไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่คนธรรพ์
ทั้งไม่ใช่ท้าวสักกปุรินททะ
แต่ข้าพเจ้าเป็นเทพบุตรตนหนึ่งในบรรดาเหล่าเทพชาวสุธัมมา
(บุรุษผู้เป็นบัณฑิตถามว่า)
[979] แน่ะเทพชาวสุธัมมา ข้าพเจ้าขอกราบเรียนถามว่า
คนทำกรรมอะไรไว้สมัยเป็นมนุษย์
จึงจะเกิดเป็นเทพชาวสุธัมมาได้
(เทพบุตรกล่าวว่า)
[980] ผู้ใดพึงถวายอาคารมุงบังด้วยใบอ้อย
อาคารมุงบังด้วยหญ้า และอาคารมุงบังด้วยผ้า
ผู้นั้นครั้นถวายอาคารอย่างใดอย่างหนึ่งในอาคารสามอย่างแล้ว
จึงจะเกิดเป็นเทพชาวสุธัมมาได้
ตติยนาควิมานที่ 12 จบ

13. จูฬรถวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่มีรถทิพย์คันเล็กเป็นพาหนะเกิดขึ้นแก่สุชาตกุมาร
(พระมหากัจจายนเถระทูลถามสุชาตกุมารว่า)
[981] นายขมังธนู ท่านยืนลดธนูไม้แก่นอันยอดเยี่ยมอยู่
ท่านเป็นกษัตริย์หรือราชกุมาร หรือเป็นพรานป่า
(สุชาตกุมารตรัสตอบว่า)
[982] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นราชโอรสของพระเจ้าอัสสกะ
เที่ยวไปในป่า ภิกษุ ข้าพเจ้าขอบอกนามแก่ท่าน
ชนทั้งหลายรู้จักข้าพเจ้าว่า สุชาตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :120 }