เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 16. ปิยวรรค 6. อัญญตรพราหมณวัตถุ
4. ลิจฉวีวัตถุ
เรื่องเจ้าลิจฉวี
(พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพวกเจ้าลิจฉวีที่แย่งหญิงผู้งดงามในเมืองจนถึงขั้น
ชกต่อยกัน จึงตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[214] ความโศกเกิดจากความยินดี1 ภัยก็เกิดจากความยินดี
ผู้พ้นจากความยินดีได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

5. อนิตถิคันธกุมารวัตถุ
เรื่องอนิตถิคันธกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อนิตถิคันธกุมาร ดังนี้)
[215] ความโศกเกิดจากกาม2 ภัยก็เกิดจากกาม
ผู้พ้นจากกามได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

6. อัญญตรพราหมณวัตถุ
เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พราหมณ์ ดังนี้)
[216] ความโศกเกิดจากตัณหา ภัยก็เกิดจากตัณหา
ผู้พ้นจากตัณหาได้เด็ดขาด
ย่อมไม่มีความโศกและภัยจากที่ไหนเลย

เชิงอรรถ :
1 ความยินดี หมายถึงความยินดีในกามคุณ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/135)
2 กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (ขุ.ธ.อ. 6/138)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :99 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 16. ปิยวรรค 8. อนาคามิเถรวัตถุ
7. ปัญจสตทารกวัตถุ
เรื่องเด็กน้อย 500 คน
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่เด็กน้อย 500 คน ดังนี้)
[217] บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล1และทัสสนะ2
ดำรงอยู่ในธรรม3 กล่าวคำสัตย์4
ทำหน้าที่ของตน5
ย่อมเป็นที่รักของประชาชน

8. อนาคามิเถรวัตถุ
เรื่องพระอนาคามีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นศิษย์ของพระผู้บรรลุ
อนาคามิผล ดังนี้)
[218] ภิกษุผู้เกิดฉันทะในธรรม6 ที่ใคร ๆ บอกไม่ได้
มีใจได้สัมผัสแล้ว7และมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย8
เราเรียกว่า ผู้มีกระแสในเบื้องบน9

เชิงอรรถ :
1 ศีล หมายถึงปาริสุทธิศีล 4 (ขุ.ธ.อ. 6/142)
2 ทัสสนะ หมายถึงสัมมาทัสสนะ (เห็นชอบ) ที่ประกอบด้วยมรรคและผล (ขุ.ธ.อ. 6/142
3 ดำรงอยู่ในธรรม หมายถึงบรรลุโลกุตตรธรรม 9 ประการ (ขุ.ธ.อ. 6/142)
4 กล่าวคำสัตย์ หมายถึงแสดงอริยสัจ 4 (ขุ.ธ.อ. 6/142)
5 ทำหน้าที่ของตน หมายถึงบำเพ็ญสิกขา 3 ให้บริบูรณ์ (ขุ.ธ.อ. 6/142)
6 ธรรม หมายถึงนิพพาน (ขุ.ธ.อ.6/144)
7 มีใจได้สัมผัสแล้ว หมายถึงมีใจได้สัมผัสมรรคผลเบื้องต่ำ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค
สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล (ขุ.ธ.อ. 6/144)
8 ด้วยอำนาจอนาคามิมรรค จึงมีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลาย (ขุ.ธ.อ. 6/144)
9 ผู้มีกระแสในเบื้องบน หมายถึงจะบังเกิดในสุทธาวาสชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือบังเกิดในชั้นอวิหาจนถึง
ชั้นอกนิฏฐา (ขุ.ธ.อ. 6/144)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :100 }