เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 15. สุขวรรค 8. สักกวัตถุ
6. ปเสนทิโกสลวัตถุ
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ดังนี้)
[204] ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง
ความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง
นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

7. ติสสเถรวัตถุ
เรื่องพระติสสเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระติสสเถระ ดังนี้)
[205] บุคคลดื่มปวิเวกรส1
ลิ้มรสแห่งความสงบ2
และได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว
เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป3

8. สักกวัตถุ
เรื่องท้าวสักกะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[206] การพบเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นการดี
การอยู่ร่วมกับพระอริยะ ก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อ
เพราะการไม่พบเห็นคนพาล บุคคลพึงอยู่เป็นสุขเนืองนิตย์

เชิงอรรถ :
1 ปวิเวกรส หมายถึงเอกีภาวสุข(สุขที่เกิดจากความเป็นผู้อยู่ผู้เดียว) (ขุ.ธ.อ. 6/124)
2 ดูเชิงอรรถที่ 2 หน้า 95 ในเล่มนี้
3 ในคาถานี้ ตรัสหมายเอาคุณสมบัติของพระขีณาสพผู้ดื่มรสแห่งปีติที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจโลกุตตรธรรม 9 ประการ
(ขุ.ธ.อ. 6/124)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :96 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 16. ปิยวรรค 1. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
[207] เพราะผู้คบค้าสมาคมกับคนพาล
ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน
การอยู่ร่วมกับคนพาล เป็นทุกข์ตลอดเวลา
เหมือนอยู่ร่วมกับศัตรู
การอยู่ร่วมกับนักปราชญ์มีแต่ความสุข
เหมือนอยู่ในหมู่ญาติ
[208] เพราะฉะนั้นแล บุคคลควรคบผู้เป็นปราชญ์
มีปัญญา เป็นพหูสูต
มีปกติเอาธุระ มีวัตร1 เป็นพระอริยะ
เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี เช่นนั้น
เหมือนดวงจันทร์โคจรไปตามทางของดาวนักษัตร ฉะนั้น
สุขวรรคที่ 15 จบ

16. ปิยวรรค
หมวดว่าด้วยสิ่งเป็นที่รัก
1. ตโยชนปัพพชิตวัตถุ
เรื่องบรรพชิต 3 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่บรรพชิต 3 รูป ดังนี้)
[209] บุคคลทำตัวให้หมกมุ่นในกิจที่ไม่ควรหมกมุ่น2
และไม่หมกมุ่นในกิจที่ควรหมกมุ่น
ละเลยสิ่งที่เป็นประโยชน์3 ติดอยู่ในปิยารมณ์4
ทะเยอทะยานตามบุคคลผู้ปฏิบัติตนดี

เชิงอรรถ :
1 มีวัตร หมายถึงมีศีลวัตร และธุดงควัตร 13 ประการ (ขุ.ธ.อ. 6/127)
2 กิจที่ไม่ควรหมกมุ่น หมายถึงการเสพอโคจร 6 อย่าง มีหญิงแพศยาเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 6/130)
3 สิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา (ขุ.ธ.อ. 6/130)
4 ปิยารมณ์(อารมณ์ที่น่ารัก) หมายถึงกามคุณ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/130)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :97 }