เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 9. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
8. สัมพหุลภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหลายรูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุประมาณ 500 รูป ดังนี้)
[194] การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมาให้
การแสดงสัทธรรม เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความสามัคคีของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมาให้
ความเพียรของคนที่สามัคคีกัน เป็นเหตุนำสุขมาให้

9. กัสสปทสพลสุวัณณเจติยวัตถุ
เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[195] บุญของบุคคลผู้บูชาท่านผู้ควรบูชา
คือพระพุทธเจ้า หรือพระสาวก
ผู้ก้าวพ้นธรรมเครื่องเนิ่นช้า1
ผู้ข้ามความโศกและความร่ำไรได้แล้ว
[196] ผู้คงที่ ผู้ดับกิเลสได้แล้ว
ผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหน
ใคร ๆ ไม่อาจนับได้ว่า
บุญนี้มีประมาณเท่านี้
พุทธวรรคที่ 14 จบ

เชิงอรรถ :
1 ธรรมเครื่องเนิ่นช้า หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ และมานะ (ขุ.ธ.อ. 6/109)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :93 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 15. สุขวรรค 2. มารวัตถุ
15. สุขวรรค
หมวดว่าด้วยความสุข
1. ญาติกลหวูปสมนวัตถุ
เรื่องการระงับความทะเลาะของหมู่พระญาติ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระญาติฝ่ายศากยะและโกลิยะ ที่ทะเลาะ
กันเพราะแย่งน้ำทำนา ดังนี้)
[197] ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร
เราเป็นผู้ไม่มีเวร อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้มีเวร เราอยู่อย่างไม่มีเวร
[198] ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน1
เราเป็นผู้ไม่เดือดร้อน อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้เดือดร้อน เราอยู่อย่างไม่เดือดร้อน
[199] ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย2
เราเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่เป็นสุขจริงหนอ
ในหมู่มนุษย์ผู้ขวนขวาย เราอยู่อย่างไม่ขวนขวาย

2. มารวัตถุ
เรื่องมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่มารผู้มีบาป ดังนี้)
[200] เราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล3 อยู่เป็นสุขจริงหนอ
เรามีปีติเป็นภักษา
ดุจทวยเทพชั้นอาภัสระ ฉะนั้น4

เชิงอรรถ :
1 ผู้เดือดร้อน หมายถึงผู้เดือดร้อนเพราะกิเลส (ขุ.ธ.อ. 6/113)
2 ผู้ขวนขวาย หมายถึงผู้มุ่งหากามคุณ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/113)
3 กิเลสเครื่องกังวล (กิญจนะ) หมายถึงราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 6/115)
4 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/154/195

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :94 }