เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 5. อนภิรติภิกขุวัตถุ
[185] การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต1
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย2

5. อนภิรติภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้)
[186] ความอิ่มในกามทั้งหลาย
มีไม่ได้ด้วยกหาปณะที่หลั่งมาดังห่าฝน
กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก
[187] บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
ย่อมไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ยินดีในความสิ้นตัณหา

เชิงอรรถ :
1 อธิจิต ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ 8 รวมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย (ขุ.ธ.อ. 6/95)
2 ดูอุทานข้อ 36 หน้า 244 ในเล่มนี้ และดู ที.ม. (แปล) 10/90/51

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :91 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 7. อานันทเถรวัตถุ
6. อัคคิทัตตปุโรหิตวัตถุ
เรื่องอัคคิทัตตปุโรหิต
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อัคคิทัตตะผู้ออกบวชเป็นฤๅษีและบริวาร ดังนี้)
[188] มนุษย์จำนวนมาก ผู้ถูกภัยคุกคาม
ต่างถึงภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ
[189] นั่นมิใช่สรณะอันเกษม นั่นมิใช่สรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง
[190] ส่วนผู้ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ย่อมใช้ปัญญาชอบพิจารณาเห็นอริยสัจ 4 ประการ คือ
[191] ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์
และอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความสงบระงับทุกข์
[192] นั่นเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
เพราะผู้อาศัยสรณะเช่นนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้1

7. อานันทเถรวัตถุ
เรื่องพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[193] บุรุษอาชาไนยหาได้ยาก เพราะว่าท่านไม่เกิดในที่ทั่วไป
ท่านเป็นนักปราชญ์ ไปเกิดในตระกูลใด
ตระกูลนั้นย่อมมีแต่ความสุข

เชิงอรรถ :
1 ทุกข์ทั้งปวง หมายถึงวัฏฏทุกข์ทั้งสิ้น (ขุ.ธ.อ. 6/104)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :92 }