เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 4. อานันทเถรปัญหวัตถุ
3. เอรกปัตตนาคราชวัตถุ
เรื่องพญานาคชื่อเอรกปัตต์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พญานาคชื่อเอรกปัตต์ ดังนี้)
[182] การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็นับว่ายาก
การดำรงชีวิตอยู่ของเหล่าสัตว์ก็นับว่ายาก
การที่จะได้ฟังสัทธรรมก็นับว่ายาก
การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเสด็จอุบัติขึ้นก็ยิ่งยาก1

4. อานันทเถรปัญหวัตถุ
เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอานนทเถระ ดังนี้)
[183] การไม่ทำบาปทั้งปวง
การทำกุศลให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว2
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
[184] ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็นสมณะ

เชิงอรรถ :
1 การเกิดเป็นมนุษย์ นับว่ายาก เพราะจะต้องได้มาด้วยความพยายามมากและด้วยกุศลมาก การดำรง
ชีวิตอยู่ นับว่ายาก เพราะต้องทำการงานเลี้ยงชีวิต และเพราะต้องดำรงชีวิตอยู่เพียงชั่วระยะนิดหน่อย
การได้ฟังสัทธรรม นับว่ายาก เพราะหาผู้แสดงได้ยาก การที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอุบัติขึ้น
นับว่ายาก เพราะจะต้องบำเพ็ญบารมีด้วยความพยายามอันยิ่งใหญ่จึงจะสำเร็จได้ และจะต้องใช้เวลา
หลายพันโกฏิกัปจึงจะเสด็จอุบัติขึ้นได้ (ขุ.ธ.อ. 6/93)
2 การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว หมายถึงการทำจิตของตนให้ผ่องใสปราศจากนิวรณ์ 5 ประการ (ขุ.ธ.อ.
6/4/95)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :90 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 14. พุทธวรรค 5. อนภิรติภิกขุวัตถุ
[185] การไม่กล่าวร้ายผู้อื่น การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ความสำรวมในปาติโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
การประกอบความเพียรในอธิจิต1
นี้คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย2

5. อนภิรติภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้ไม่ยินดี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ดังนี้)
[186] ความอิ่มในกามทั้งหลาย
มีไม่ได้ด้วยกหาปณะที่หลั่งมาดังห่าฝน
กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มาก
[187] บัณฑิตรู้อย่างนี้แล้ว
ย่อมไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ยินดีในความสิ้นตัณหา

เชิงอรรถ :
1 อธิจิต ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ 8 รวมถึงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย (ขุ.ธ.อ. 6/95)
2 ดูอุทานข้อ 36 หน้า 244 ในเล่มนี้ และดู ที.ม. (แปล) 10/90/51

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :91 }