เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ 6. รตนสูตร
6. รตนสูตร 1
ว่าด้วยรตนะอันประณีต
(พระผู้มีพระภาคตรัสรตนสูตรดังนี้)
[1] ภูตทั้งหลายผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น2
หรือผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ3 ที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้
ขอให้ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดี และจงฟังภาษิตโดยเคารพเถิด
[2] เพราะฉะนั้นแล ภูตทั้งปวง ท่านจงใคร่ครวญ
จงแผ่เมตตาต่อหมู่มนุษย์ด้วยเถิด
มนุษย์เหล่าใดนำเครื่องเซ่นสรวงมาให้
ทั้งกลางวันและกลางคืน
เพราะเหตุนั้น ขอท่านทั้งหลายอย่าประมาท
จงรักษามนุษย์เหล่านั้น
[3] ทรัพย์เครื่องปลื้มใจ หรือรัตนชาติที่ประณีต4ใด ๆ
ที่มีในโลกนี้ ในโลกอื่น หรือในสวรรค์
ทรัพย์หรือรัตนชาตินั้น ๆ ที่เสมอด้วยตถาคต ไม่มี
นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระพุทธเจ้า
ด้วยสัจจะนี้ ขอให้มีความสวัสดี

เชิงอรรถ :
1 ดู สุตตนิบาตข้อ 224-241 หน้า 529 ในเล่มนี้
2 คำว่า ภูต มีความหมายหลายนัย คือ นัยที่ 1 มีความหมายเชิงกริยาว่า “มีแล้ว” (หรือ “เกิดแล้ว” ดู วิ.มหา.
(แปล) 2/153/327) นัยที่ 2 หมายถึงขันธ์ 5 (ดู ม.มู. (แปล) 12/401/432) นัยที่ 3 หมายถึงธาตุ 4
มีปฐวีธาตุ เป็นต้น (ดู ม.อุ. 14/86/68) นัยที่ 4 หมายถึงพระขีณาสพ (ดู ขุ.ชา. (แปล) 27/190/116)
นัยที่ 5 หมายถึง สรรพสัตว์ (ดู ที.ม. (แปล) 10/220/167) นัยที่ 6 หมายถึงรุกขชาติต่าง ๆ (ดู วิ.มหา.
(แปล) 2/90/116) นัยที่ 7 หมายถึงหมู่สัตว์นับแต่ท้าวมหาราชทั้ง 4 ลงมา (ดู ม.มู. (แปล) 12/3/5)
ในที่นี้หมายถึงอมนุษย์ที่มีศักดิ์น้อย หรืออมนุษย์ที่มีศักดิ์มาก และคำว่า ผู้สิงสถิตอยู่บนภาคพื้น หมายถึง
ภุมมเทวดาคือเทวดาที่บังเกิดบนพื้นดิน ต้นไม้ และภูเขา เป็นต้น (ขุ.ขุ.อ. 6/145)
3 ผู้สิงสถิตอยู่ในอากาศ หมายถึงเทวดาที่บังเกิดในวิมานในอากาศตั้งแต่สวรรค์ชั้นยามาจนถึงพรหมโลก
ชั้นอกนิษฐา (ขุ.ขุ.อ. 6/145)
4 ประณีต ในที่นี้หมายถึงสูงสุด ประเสริฐสุด (ขุ.ขุ.อ. 6/149)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :9 }