เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 13. โลกวรรค 2. สุทโธทนวัตถุ
13. โลกวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องโลก
1. ทหรภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุหนุ่ม
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง ดังนี้)
[167] บุคคลไม่พึงเสพสิ่งต่ำทราม1
ไม่พึงอยู่ด้วยความประมาท
ไม่พึงยึดถือความเห็นผิด
ไม่พึงเป็นคนรกโลก

2. สุทโธทนวัตถุ
เรื่องพระเจ้าสุทโธทนะ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าสุทโธทนะพระบิดาของพระองค์ ดังนี้)
[168] ภิกษุไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ2
พึงประพฤติสุจริตธรรม3
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
[169] พึงประพฤติสุจริตธรรม
ไม่พึงประพฤติทุจริตธรรม
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

เชิงอรรถ :
1 สิ่งต่ำทราม ในที่นี้หมายถึงกามคุณ 5 (ขุ.ธ.อ. 6/27)
2 ไม่พึงประมาทบิณฑบาตที่ตนยืนรับ หมายถึงไม่พึงดูหมิ่นอาหารที่ต้องลุกขึ้นไปยืนรับตามลำดับตรอก
ไม่เลือกรับเฉพาะบ้าน (ขุ.ธ.อ. 6/29)
3 สุจริตธรรม หมายถึงภิกขาจริยธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ซึ่งตรงกันข้ามกับทุจริต-
ธรรม คือ การเที่ยวบิณฑบาตในสถานที่อโคจร เช่น สถานที่ที่มีหญิงแพศยา เป็นต้น (ขุ.ธ.อ.6/30)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :85 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 13. โลกวรรค 5. สัมมัชชนเถรวัตถุ
3. ปัญจสตวิปัสสกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา 500 รูป
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา 500 รูป ดังนี้)
[170] มัจจุราชย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณาเห็นโลก1
เหมือนเห็นฟองน้ำ เหมือนเห็นพยับแดด

4. อภยราชกุมารวัตถุ
เรื่องอภัยราชกุมาร
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่อภัยราชกุมาร ดังนี้)
[171] ท่านทั้งหลายจงมาดูโลกนี้2 ที่วิจิตรดุจราชรถ
ที่พวกคนเขลาหมกมุ่นอยู่ แต่พวกผู้รู้หาข้องอยู่ไม่3

5. สัมมัชชนเถรวัตถุ
เรื่องพระสัมมัชชนเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[172] ผู้ใดประมาทแล้วในกาลก่อน
ภายหลังไม่ประมาท
ผู้นั้นย่อมทำโลกนี้ให้สว่างไสว4
ดุจดวงจันทร์พ้นจากเมฆ ฉะนั้น5

เชิงอรรถ :
1 โลก หมายถึงโลกคือขันธ์ 5 เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 6/31)
2 ดูความหมายในเชิงอรรถที่ 1
3 ข้องอยู่ หมายถึงติดอยู่ด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.ธ.อ. 6/32)
4 ทำโลกนี้ให้สว่างไสว หมายถึงทำโลกคือขันธ์ 5 เป็นต้น ให้สว่างด้วยมรรคญาณ (ขุ.ธ.อ. 6/34)
5 ดูเทียบ ม.ม. (แปล) 13/352/430, ขุ.เถร. (แปล) 26/871/483

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :86 }