เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 11. ชราวรรค 5. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
3. อุตตราเถรีวัตถุ
เรื่องพระอุตตราเถรี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระอุตตราเถรีผู้มีอายุ 120 ปี ดังนี้)
[148] ร่างกายนี้แก่หง่อมแล้ว
เป็นรังของโรค มีแต่จะทรุดโทรมลงไป
ร่างกายที่เน่าเปื่อยนี้ก็จะแตกดับไป
เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด

4. อธิมานิกภิกขุวัตถุ
เรื่องภิกษุผู้เข้าใจว่าตนสำเร็จ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลายที่กำลังดูซากศพในป่าช้า ดังนี้)
[149] กระดูกเหล่านี้มีสีเหมือนสีนกพิราบ
ถูกเขาทิ้งไว้เกลื่อนกลาด
เหมือนน้ำเต้าที่ร่วงเกลื่อนกลาดในสารทกาล1
ความยินดีอะไรเล่าจะเกิด เพราะเห็นกระดูกเหล่านั้น

5. ชนปทกัลยาณีรูปนันทาเถรีวัตถุ
เรื่องพระรูปนันทาเถรีผู้งามในรัฐ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระรูปนันทาเถรีผู้สำคัญตนว่างาม ดังนี้)
[150] ร่างกายนี้ถูกสร้างให้เป็นนครแห่งกระดูก
ฉาบด้วยเนื้อและเลือด เป็นที่สถิตแห่งความแก่
ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่กัน

เชิงอรรถ :
1 สารทกาล หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูสารท เทศกาลทำบุญสิ้นเดือน 10 (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :78 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ธรรมบท 11. ชราวรรค 8. ปฐมโพธิวัตถุ
6. มัลลิกาเทวีวัตถุ
เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เสียพระทัยเพราะ
การจากไปของพระนางมัลลิกาเทวี ดังนี้)
[151] ราชรถอันวิจิตรงดงาม ยังชำรุดได้
แม้แต่ร่างกายนี้ ก็ยังเข้าถึงชราได้
แต่ธรรมของสัตบุรุษ1หาเข้าถึงชราไม่
สัตบุรุษกับสัตบุรุษรู้กันได้อย่างนี้2

7. โลลุทายิเถรวัตถุ
เรื่องพระโลลุทายีเถระ
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้)
[152] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้
ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่3

8. ปฐมโพธิวัตถุ
เรื่องเหตุการณ์คราวแรกตรัสรู้
(พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทาน ดังนี้)
[153] เราตามหานายช่าง4ผู้สร้างเรือน5 เมื่อไม่พบ6
จึงท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ
เพราะการเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์

เชิงอรรถ :
1 ธรรมของสัตบุรุษ หมายถึงโลกุตตรธรรม 9 (มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1) (ขุ.ธ.อ. 5/101)
2 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/114/131, ขุ.ชา. (แปล) 28/413/166
3 ขุ.เถร. (แปล) 26/1028/508
4 นายช่าง ในที่นี้หมายถึงตัณหา (ขุ.ธ.อ. 5/105)
5 เรือน ในที่นี้หมายถึงอัตภาพ (ขุ.ธ.อ. 5/105)
6 เมื่อไม่พบ ในที่นี้หมายถึงไม่พบโพธิญาณ (ขุ.ธ.อ. 5/105)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :79 }