เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[1137] บุคคลเมื่อเจริญมรรคอันสูงสุด
จะพึงจากที่มิใช่ฝั่งไปถึงฝั่งได้
(เพราะ)มรรคนั้น(เป็นไป)เพื่อให้ถึงฝั่ง
เพราะฉะนั้น มรรคนั้นจึงชื่อว่า ปารายนะ

ปารายนานุคีติคาถา1
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
[1138] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชนดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
พระปัญญาอันไพบูลย์ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใดก็ตรัสบอกอย่างนั้น
จะพึงตรัสคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
[1139] อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยคำสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้
[1140] ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ขุ.จู. (แปล) 30/156-174/38-42

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :776 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] ปารายนานุคีติคาถา
[1141] นกพึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้มาก ฉันใด
อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทัสสนะแคบ1
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ ฉะนั้น
[1142] ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมดนั้น เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
(อาตมภาพจึงไม่ยินดียิ่งในคำตอบนั้น)
[1143] พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่ง
ทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
[1144] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[1145] (พราหมณ์พาวรีกล่าวกับท่านพระปิงคิยะดังนี้)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่

เชิงอรรถ :
1 ทัสสนะแคบ ในที่นี้หมายถึงมีปัญญาน้อย (ขุ.สุ.อ. 2/1141/456)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :777 }