เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 14. โปสาลมาณวกปัญหา
[1117] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
ข้าพระองค์มาเฝ้าเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
สัตว์โลกมีสติเที่ยวไปอยู่อย่างไร วิญญาณจึงดับสนิท
ขอฟังพระดำรัสนั้นของพระองค์
[1118] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกไม่ยินดีเวทนาภายในและภายนอก
มีสติเที่ยวไปอยู่อย่างนี้ วิญญาณ1จึงดับสนิท
อุทยมาณวกปัญหาที่ 13 จบ

14.โปสาลมาณวกปัญหา2
ว่าด้วยปัญหาของโปสาลมาณพ
[1119] (โปสาลมาณพทูลถามดังนี้)
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใด
ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว
ตัดความสงสัยได้แล้ว ทรงแสดงอดีตธรรม
ข้าพระองค์มีปัญหาที่จะทูลถาม
จึงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ผู้ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง

เชิงอรรถ :
1 วิญญาณ หมายถึงอภิสังขารวิญญาณ (วิญญาณที่เกิดพร้อมกับอภิสังขาร) (ขุ.สุ.อ. 2/1118/450)
2 ดู ขุ.จู. (แปล) 30/137-140/32-33

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :770 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 14. โปสาลมาณวกปัญหา
[1120] ข้าแต่พระองค์ผู้สักกะ ข้าพระองค์ขอทูลถามถึงญาณ
ของบุคคลผู้ไม่มีรูปสัญญา1 ผู้ละรูปกายได้ทั้งหมด
ผู้พิจารณาทั้งภายในและภายนอกเห็นว่าไม่มีอะไร
บุคคลผู้เป็นเช่นนั้น ควรแนะนำอย่างไร
[1121] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โปสาละ)
ตถาคตรู้ยิ่งซึ่งวิญญาณัฏฐิติ2ทั้งหมด
รู้จักบุคคลนั้นผู้ดำรงอยู่ ผู้น้อมไปแล้ว
ผู้มีอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้นเป็นที่มุ่งหมาย
[1122] บุคคลนั้นรู้กัมมาภิสังขาร3ว่า เป็นเหตุเกิด
แห่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ
รู้อรูปราคะว่า มีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องผูกไว้
ครั้นรู้กรรมอย่างนี้แล้ว ออกจากสมาบัตินั้น
เห็นแจ้งธรรมที่เกิดในสมาบัตินั้น
ญาณนี้ของพราหมณ์ผู้อยู่จบพรหมจรรย์
เป็นญาณอันแท้จริง
โปสาลมาณวกปัญหาที่ 14 จบ

เชิงอรรถ :
1 ผู้ไม่มีรูปสัญญา หมายถึงผู้ได้อรูปสมาบัติ 4 (ขู.จู. (แปล) 30/82/287)
2 วิญญาณัฏฐิติ คือ ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณัฏฐิติ 4 และวิญญาณัฏฐิติ 7
(ขุ.จู. (แปล) 30/83/289-290)
3 กัมมาภิสังขาร ในที่นี้หมายถึงอาเนญชาภิสังขาร สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ได้แก่ กุศล-
เจตนาที่เป็นอรูปาวจร 4 หมายถึง ภาวะจิตที่มั่นคงแน่วแน่ (ขุ.จู.อ. 84/69)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :771 }