เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 13. อุทยมาณวกปัญหา
ทรงถึงฝั่งแห่งธรรมทั้งปวง
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกอัญญาวิโมกข์1
อันเป็นเครื่องทำลายอวิชชาด้วยเถิด
[1113] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อุทัย)
เราจะบอกอัญญาวิโมกข์
อันเป็นเครื่องละความพอใจในกาม และโทมนัสทั้ง 2 อย่าง
เป็นเครื่องบรรเทาความย่อท้อ
และเป็นเครื่องกั้นความคะนอง
[1114] เราจะบอกอัญญาวิโมกข์ที่บริสุทธิ์
เพราะมีอุเบกขาและสติ
ที่มีธรรมตรรกะเป็นเบื้องต้น
เป็นเครื่องทำลายอวิชชา2
[1115] (อุทัยมาณพทูลถามอีกดังนี้)
สัตว์โลกมีอะไรเป็นเครื่องประกอบไว้
อะไรเล่าเป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละอะไรได้เล่า พระองค์จึงตรัสว่า นิพพาน
[1116] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
สัตว์โลกมีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบไว้
ความตรึก3เป็นเหตุเที่ยวไปของสัตว์โลกนั้น
เพราะละตัณหาได้ เราจึงเรียกว่า นิพพาน

เชิงอรรถ :
1 อัญญาวิโมกข์ หมายถึงความหลุดพ้นด้วยอรหัตตผล (องฺ.ติก.อ. 2/33/115-116) และดู ขุ.จู. (แปล)
30/74-75/266-275 ประกอบ
2 ข้อ 1113-4 ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) 20/33/186, ขุ.จู. (แปล) 30/75-76/272-277
3 ความตรึก (วิตก) มี 9 อย่าง (1) กามวิตก (ความตรึกในกาม) (2) พยาบาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท)
(3) วิหิงสาวิตก (ความตรึกในความเบียดเบียน) (4) ญาติวิตก (ความตรึกถึงญาติ) (5) ชนปทวิตก
(ความตรึกถึงชนบท) (6) อมราวิตก (ความตรึกถึงเทพเจ้า) (7) ปรานุทยตาปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึก
ที่ประกอบด้วยความเป็นผู้เอ็นดูผู้อื่น) (8) ลาภสักการสิโลกปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วย
ลาภสักการะและความสรรเสริญ) (9) อนวัญญัตติปฏิสังยุตตวิตก (ความตรึกที่ประกอบด้วยความไม่ถูก
ดูหมิ่น) (ขุ.จู. (แปล) 30/78/278-279)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :769 }