เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 10. กัปปมาณวกปัญหา
10. กัปปมาณวกปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของกัปปมาณพ
[1099] (กัปปมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ2
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
อนึ่ง ขอพระองค์โปรดตรัสบอกที่พึ่ง
โดยวิธีที่ทุกข์นี้จะไม่พึงมีแก่ข้าพระองค์อีก
[1100] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า กัปปะ)
เราจะบอกที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
ผู้ดำรงอยู่ท่ามกลางสระ
ผู้ถูกชราและมัจจุราชครอบงำ
ในขณะเกิดห้วงน้ำอันเป็นมหันตภัย
เราจะบอกที่พึ่งแก่เธออีก
[1101] เราเรียกนิพพานซึ่งไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่มีเครื่องยึดมั่นนี้นั้นว่า เป็นที่พึ่งอันไม่มีที่พึ่งอื่นยิ่งกว่า
(เพราะ)นิพพานเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมัจจุราช
[1102] ชนเหล่าใดมีสติ รู้นิพพานนั้นแล้ว
เห็นธรรม ดับกิเลสได้แล้ว
ชนเหล่านั้นก็ไม่ไปตามอำนาจของมาร ไม่ไปบำรุงมาร
กัปปมาณวกปัญหาที่ 10 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/117-120/27
2 สระ ในที่นี้หมายถึงสังสารวัฏ (ขุ.สุ.อ. 2/1099/447)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :765 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต [5. ปารายนวรรค] 11. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา
11. ชตุกัณณิมาณวกปัญหา1
ว่าด้วยปัญหาของชตุกัณณิมาณพ
[1103] (ชตุกัณณิมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระวีระ ข้าพระองค์ได้ยินว่า
พระองค์ไม่มีความใคร่กาม ล่วงพ้นห้วงกิเลส
จึงมาเฝ้าเพื่อทูลถามพระองค์ผู้ไม่มีกาม
ข้าแต่พระสหชเนตร2 ขอพระองค์โปรดตรัสบอกสันติบท
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรม
อันแท้จริงนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[1104] อนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงครอบงำกามทั้งหลายด้วยพระเดช
เคลื่อนไหว(อิริยาบถ)อยู่
เหมือนดวงอาทิตย์มีแสงสว่างส่องแสงปกคลุมทั่วปฐพี
พระองค์ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องละชาติ และชราในโลกนี้
ซึ่งข้าพระองค์จะพึงรู้แจ้ง แก่ข้าพระองค์ผู้มีปัญญาน้อยด้วยเถิด
[1105] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชตุกัณณิ)
เธอจงกำจัดความติดใจในกามทั้งหลายเสีย
เห็นเนกขัมมะ3โดยความเป็นธรรมเกษมแล้ว
ควรสลัดกิเลสเครื่องกังวลที่ยึดถือ
หรือว่ากิเลสเครื่องกังวลอย่าได้มีแก่เธอ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) 30/121-125/28-29
2 พระสหชเนตร ในที่นี้หมายถึงผู้มีพระเนตร คือ พระสัพพัญญุตญาณ (ขุ.สุ.อ. 2/1103/447)
3 เนกขัมมะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ. 2/1105/448)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 25 หน้า :766 }